สังคม

เพจดังเปิดราคาเทียบชัดๆ เครื่องออกกำลังกทม.แพงลิ่ว แฉ บ.ชนะประมูล-อดีตผอ.สำนักงบฯ นามสกุลเดียวกัน

โดย panwilai_c

7 มิ.ย. 2567

102 views

เพจเฟซบุ๊ก ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์แฉเพิ่ม เรื่องการเทียบราคาเครื่องออกกำลังกาย กทม. โดยบอกว่า มีการเทียบรุ่นและราคา พบว่า ราคากลางที่กทม.กำหนดกับราคาที่ขายในท้องตลาดต่างกันลิบลับ



เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONG ต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์ทั้งข้อความและภาพ ยกตัวอย่างราคาที่ต่างกันของอุปกรณ์ออกกำลังกาย เริ่มจาก



ดัมเบล Zeus กทม. จัดซื้อ 2.7 แสนบาท แต่ ราคาในตลาดที่ระบุในโลกออนไลน์ อยู่ที่ 54,000 บาท



WNQ จักรยานปั่นแบบมีพนักพิง กทม.จัดซื้อ 4.8 แสนบาท ราคาตลาด 40,000 บาท



WNQ อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อขาหน้า-หลัง กทม.จัดซื้อ 4.7 แสนบาท ราคาตลาด 35,000 บาท



ลู่วิ่ง Venus กทม.จัดซื้อ 7.5 แสนบาท ราคาตลาด 100,000 บาท



จักรยานปั่นแบบนั่งตรง กทม.จัดซื้อ 4.5 แสนบาท ราคาตลาด 30000 บาท



เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONG ต้านทุจริตประเทศไทย บอกอีกว่า เครื่องออกกำลังกายรุ่นนี้ ผลิตในประเทศจีน มีเพียงบริษัท WNQ fitnessthailand ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงเจ้าเดียวในประเทศไทย



นอกจากประเด็นเรื่อง การจัดซื้อที่ราคาสูงกว่าราคาตลาด อีก 1 ประเด็นที่น่าสนใจคือ แล้วทำไมไม่มีบริษัทที่ขายในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดมาร่วมประกวดราคาเลย ทีมข่าวไล่ดู ประกาศกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างการ ประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ (ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ) 1 ในโครงการที่สงสัยกันว่า อาจจะผิดปกติ ปรากฎว่า เราพบข้อมูล ว่า 1 ในเงื่อนไข บริษัทที่จะยื่นเสนอรับโครงการนี้ได้



"จะต้องยื่นหนังสือรับรองผลงานการขายครุภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับส่วนราชการ หน่วยงานตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่น ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ทำการตรวจรับพัสดุไว้ถูกต้อง ครบถ้วน เรียบร้อยแล้ว ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 2,499,000 บาท ในสัญญาเดียว โดยแนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญาซื้อขายไม่น้อยกว่า 4 สัญญา ในวันเสนอราคา โดยมีระยะเวลานับย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันตรวจรับพัสดุจนถึงวันยื่นข้อเสนอ



ประเด็นนี้น่าสนใจว่า บริษัทที่จะจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีประสบการณ์ในการขายเครื่องออกกำลังกายให้หน่วยงานราชการ ในวงเงินไม่ต่ำกว่า เกือบ 2.5 ล้านบาท และต้องซื้อขายกันอย่างน้อย 4 สัญญา ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี หรือจริงๆเป็นแค่การลดจำนวนบริษัทที่จะเข้ามาแข่งขันประกวดราคาหรือไม่



ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับที่เมื่อวานเรานำเสนอไปว่า 7 โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกาย ในปี 66-67 มีแค่ 2 บริษัท สลับกันชนะได้โครงการไป



และล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONG ต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์ข้อมูลอีก 1 โพสต์ บอกว่า เปิดข้อมูลบริษัท จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย กทม. พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่ชนะการประกวดราคา ได้งานของกทม. มีคอนเนคชั่นไม่ธรรมดาหรือไม่



นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า ข้อมูลในระบบของกรมธุรกิจการค้ากรรมการผู้จัดการ บริษัท วาล็อค สปอร์ต อีควิปเม้นท์ จำกัด ที่ได้งานจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย เฉพาะปี 66-67 ได้ไป 4 โครงการ นามสกุลเดียวกับอดีต ผอ.สำนักงบประมาณ ของ กทม. ที่เกษียณอายุราชการไปช่วงปี 2565



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/pWK5bZ1AD0k

คุณอาจสนใจ