พระราชสำนัก

'ในหลวง - พระราชินี' เสด็จฯ พระราชพิธีพืชมงคล 2567 ทรงเจิมพระยาแรกนา-เทพีแรกนาขวัญ

โดย nattachat_c

10 พ.ค. 2567

58 views

เมื่อเวลา 17.18 น. วันที่ 9 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีพืชมงคล พุทธศักราช 2567


เมื่อเสด็จถึงพระอุโบสถ ทรงรับกระทงดอกไม้จากพนักงานพระราชพิธีวางบนหน้าฐานชุกชี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง แล้วทรงจุดเทียนห่วงบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงคม เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย์ ทรงคม แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ ทรงศีล พระราชาคณะประธานสงฆ์ถวายศีล จบ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ธรรมาสน์ศิลา ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ (รัชกาลที่ 9) พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ 10, พระคันธารราษฎร์จีนนั่ง รัชกาลที่ 10, พระคันธารราษฎร์จีนยืน รัชกาลที่ 10, พระคันธารราษฎร์บันได รัชกาลที่ 10, พระคันธารราษฎร์รวงข้าว รัชกาลที่ 10, พระบัวเข็ม, พระพลเทพ, พระโคศุภราช และทรงประพรมพืชต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะ 2 ข้างนั้นด้วย ทรงโปรยดอกไม้และถวายพวงมาลัยที่พระพุทธรูปนั้นทุกองค์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระคันธารราษฎร์ ทรงอธิษฐานขอความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักร ประทับพระราชอาสน์


พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล จบ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา และพระราชทานพระธำมรงค์กับพระแสงปฏัก


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิมผู้เป็นเทพีในการแรกนาขวัญ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร, นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร, นางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร เมื่อทรงเจิมเทพีเสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงหลั่งทักษิโณทก เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จฯ กลับ

-------------------

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2567 เวลา 07.19 น. พระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง แล้วเดินนำขบวนแห่อิสริยยศไปที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อม


เวลา 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพลับพลาที่ประทับ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


โดยในปี 2567 กรมปศุสัตว์ ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ


พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง

พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล


พระโคแรกนาขวัญ และพระโคสำรอง ประจำปีพุทธศักราช 2567 เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า


พระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์


ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร


โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม

---------------


Related News