ประชาสัมพันธ์
'ในหลวง-พระราชินี' ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน - ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 27 ต.ค.67
โดย parichat_p
27 ต.ค. 2567
30 views
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชโอรสาราม
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 เวลา 17 นาฬิกา 18 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 เดิมชื่อ วัดใหม่ สันนิษฐานว่าได้รับพระราชทานชื่อ วัดบวร เมื่อครั้งพระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส ให้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อปี 2379
ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ พระประธานองค์ใหญ่ คือ พระสุวรรณเขต อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ทางด้านหน้าพระสุวรรณเขต คือ พระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ที่เสด็จออกทรงผนวชหลายพระองค์ และเป็นที่สถิต ของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรมแล้ว ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระรูป สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) พระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงทอดผ้าไตร และถวายเครื่องบริวารพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก
จากนั้น ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมพระไพรีพินาศ (จำลอง) เนื้อเงิน ซึ่งทางวัดจัดสร้างขึ้น เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ ภปร. พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดบวร ประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งน้อย บนชั้นที่สอง ลานประทักษิณ ด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ภายในวัดฯ
โอกาสนี้ พระพรหมวชิรรังษี เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถวายพระไพรีพินาศ (จำลอง) เนื้อทองคำ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายพระกริ่งบัวรอบ เนื้อทองคำ และเนื้อนวโลหะ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระมหาวชิรจุลมงกุฎยอดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง สำหรับถวายพระพุทธชินสีห์ พระประธานประจำพระอุโบสถ เพื่อเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พร้อมทรงประกอบพิธีเททองหล่อ พระไพรีพินาศ (จำลอง) เนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว เพื่อพระราชทานแก่ผู้มีจิตศรัทธา บริจาคทุนทรัพย์ ในโครงการจัดสร้างอาคารที่พัก สำหรับพระสงฆ์ และสามเณร ที่มาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
เวลา 18 นาฬิกา 29 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง เป็นวัดที่ 2 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัต แล้วทรงพระดำเนิน ไปทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพัดยศ (องค์ใหม่) เป็นพุทธบูชา แด่พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานพระอุโบสถ เพื่อทดแทนพัดยศองค์เดิม ที่จัดสร้างขึ้นเมื่อคราวสมโภชพระอุโบสถ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า ซึ่งสูญหายไปเมื่อปี 2549 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาในฐานะทรงเป็นพุทธมามกะ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แก่วัดราชโอรสาราม นำไปจัดสร้างพัดยศขึ้นใหม่ โดยนำแบบลวดลายพัดยศของ พระประธานพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นต้นแบบ
จากนั้น ทรงหยิบผ้าห่ม สำหรับพระประธาน พระราชทานแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา เชิญไปห่มถวายเป็นพุทธบูชา และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน สำหรับวัดราชโอรสาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สันนิษฐานว่ามีมาก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
แต่เดิมเรียกกันว่า วัดจอมทอง วัดเจ้าทอง หรือ วัดกองทอง ซึ่งในขณะที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้จนแล้วเสร็จ และได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อเป็นพระอารามหลวงอีกแห่งภายในพระนคร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามว่า วัดราชโอรส หมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนาขึ้น ลักษณะการตกแต่งภายในวัด เป็นการประยุกต์ผสมผสาน ระหว่างศิลปกรรมไทย กับศิลปกรรมจีนอย่างประณีตกลมกลืน นับเป็นมรดกทางโบราณสถานที่มีความสง่างาม และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สำคัญ บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านอารยาธรรม แห่งพระพุทธศาสนาของประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์ และสามเณร จำพรรษา 55 รูป