เศรษฐกิจ

แต่ละหน่วยงาน นิยาม 'ร้านค้าขนาดเล็ก' ก่อนเคาะสรุป ใครได้ร่วม 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

โดย passamon_a

22 เม.ย. 2567

143 views

เมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 แหล่งข่าวในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กล่าวถึงความคืบหน้า กำหนดนิยามร้านค้าที่สามารถเข้าโครงการ ว่า ที่ประชุมครั้งล่าสุดได้เห็นชอบนิยามร้านค้าที่จะเข้าโครงการจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย


ทั้งนี้ นิยามร้านค้าขนาดเล็ก ของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้แก่

1. ร้านค้ารายย่อยที่เป็น ร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยท้องถิ่น ร้านค้าสหกรณ์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน โอท็อป

2. จำหน่ายสินค้า 6 หมวด ได้แก่ สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ยารักษาโรค (ไม่รวมสมุนไพร) วัสดุเพื่อการศึกษา ธูป เทียน และเครื่องสักการะ

3. มีทำเลที่ตั้งร้านแน่นอนและอยู่ในแหล่งชุมชน


ส่วนนิยามร้านค้าขนาดเล็ก โครงการคนละครึ่ง ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่

1. ร้านค้าบุคคลธรรมดา

2. ร้านธงฟ้า กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน และบริการขนส่งสาธารณะมวลชน

3. ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล

4. ไม่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์


นิยามร้านค้าขนาดเล็ก โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้แก่

1. ร้านสะดวกซื้อที่เน้นการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ในสัดส่วน 70-90%

2. ตั้งในแหล่งชุมชน เน้นการบริการและให้ความสะดวกแก่ลูกค้า ผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (Grocery Store หรือร้านขายของชำ) ซึ่งมีลักษณะเป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ที่ดูแลทุกอย่างภายในร้านเองคนเดียว เรียกว่าร้านโชห่วย หรือร้านขายของชำ ใช้พื้นที่น้อย ๆ ในบริเวณชั้น 1 ของหน้าบ้าน หรือตึกแถว 1 คูหา โดยมักจะขายของใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นการขายให้คนในชุมชนหรือคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง อีกทั้งไม่ค่อยมีเทคโนโลยีอะไรมากนัก การจัดการบัญชีต่าง ๆ ก็จะเป็นระบบเก่าและจัดการด้วยตนเองมากกว่า เพราะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก


เมื่อได้นิยามแล้วก็จะนำไปประชุมร่วมกับด้านอื่น ๆ กับคณะทำงานด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในโครงการ และคณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการ ที่จะหาข้อสรุปกำหนดเงื่อนไขตามนิยาม และเข้าขั้นตอนเปิดให้ร้านค้าสมัครเข้าโครงการ และต้องมีการยืนยันตนเองจึงสมบูรณ์


ตามขั้นตอนต่าง ๆ ต้องสมัครผ่านระบบ DGA ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพัฒนา และนำมาใช้ ซึ่งต้องดูในเรื่องระบบภาษีด้วย เรื่องนี้ก็ต้องดูข้อมูลจากกระทรวงการคลัง จะได้ความรู้ชัดเจนทั้งระบบในฝั่งร้านค้าขนาดเล็กที่ได้เข้าโครงการ และทุกขั้นตอนนี้ต้องแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อดำเนินการโครงการในไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ คาดว่าหลังสงกรานต์ในเร็ว ๆ นี้ จะมีการประชุมในคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อติดตามความคืบหน้า



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/5vvqnfcBC20


คุณอาจสนใจ

Related News