เลือกตั้งและการเมือง

เสียงท่วมท้น! สว.เห็นชอบ “สมรสเท่าเทียม” วาระแรกแล้ว

โดย nicharee_m

2 เม.ย. 2567

52 views

ผ่านแล้ววาระแรก! สว. เห็นชอบ “สมรสเท่าเทียม” 147 ต่อ 4 เสียง ตั้งกรรมาธิการศึกษาต่อ “สว.เสรี” ยินดี ชี้ถึงเวลาต้องยอมรับความจริง ยันไม่ได้อิงตามกระแส เล่ามีเพื่อน LGBT สมัยเรียนต้องแอบๆ ซ่อนๆ ขณะ “สว.สานิตย์” เปิดใจ อยากให้มีผลใช้ทันที เหตุมีคนรอคอยอยู่ แนะปรับอายุสมรส 20 ปี จะได้ไม่มีปัญหาสังคม

วันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งก่อนสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ ก่อนที่จะปิดสมัยประชุม ในวันที่ 9 เม.ย. มีวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือสมรสเท่าเทียม วาระแรก หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว และส่งต่อมาให้วุฒิสภาพิจารณาต่อให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรส่งมาให้

บรรยากาศการประชุม เป็นไปด้วยความราบรื่น สว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย โดยนายวันชัย สอนศิริ ในฐานะคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรมจริยธรรม ศิลปและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่พิจารณาคู่ขนาน อภิปรายเป็นข้อสังเกตว่าประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในลักษณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศ และในประเทศมุสลิมไม่รับรองกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ที่สำคัญร่างกฎหมายนี้ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่บังคับไม่ให้ทำการ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ์ที่สามารถทำได้ ดังนั้นหากเห็นว่าผิดคำสอนศาสนา ก็ไม่ต้องไปทำก็ได้

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบเชิงศีลธรรมทางสังคม เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ การลักลอบอุ้มบุญ และข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา คณะกรรมาธิการจึงมีข้อสังเกตว่า ประเด็นทางศาสนาควรมีการสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้ที่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียว เพื่อให้ยอมรับการก่อตั้งครอบครัว ทั้งนี้องค์กรศาสนาที่เกี่ยวข้องควรดำรงบทบาทในการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องต่อสาธารณะชน ตลอดจนเป็นองค์กรที่หาทางออกในเรื่องที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงค่านิยม รวมถึงควรทำหน้าที่ป้องกันหรือระงับข้อพิพาททางความคิดของคนที่อยู่ร่วมกันทางสังคมในอนาคต

ส่วนประเด็นทางวัฒนธรรมควรมีมาตรการในเชิงสังคมหรือนโยบาย เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวรูปแบบใหม่ใหม่ เช่น การกำหนดนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน หรือผู้ที่มีลักษณะข้ามเพศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและบุตร

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะสมาชิก ลุกขึ้นขออภิปรายเป็นคนแรก ว่า เรื่องความเท่าเทียมเห็นได้ว่าเราพยายามเรียกร้องมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ และค่อยๆพัฒนาขึ้น เพียงแต่ปัญหาเรื่องเพศไม่ค่อยยอมรับกันเท่าไหร่ในโลกความเป็นจริง แม้จะพบเจอกันคนใกล้ตัวที่เราได้พบเสมอมา

“ผมได้พบตั้งแต่สมัยมัธยม ก็มีเพื่อนมีรุ่นน้องโรงเรียนผมเป็นโรงเรียนชาย ก็มีเพื่อนนักเรียนเหล่านี้มีพฤติกรรมแสดงออกไปในแนวทางคนละเพศกัน แรกๆ ก็อาจจะดูว่าแปลกออกไป แต่ด้วยเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าสังคมได้ยอมรับมากขึ้น ตอนแรกต้องปิดๆบังๆ แอบๆ แต่เมื่อสังคมยอมรับมากขึ้น ก็มีความชัดเจน” นายเสรี กล่าว

นายเสรี ย้ำว่า เรื่องเพศเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันโลกเจริญขึ้นเยอะ เป็นเรื่องที่แปลก ธรรมชาติสร้างให้มีหญิงกับชาย แต่ธรรมชาติเองกลับสร้างให้ชายเป็นหญิง หรือหญิงเป็นชาย แล้วจำนวนคนมากขึ้น

“ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงในสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะทำให้เขาอยู่อย่างไรในสังคมปัจจุบัน ผมยอมรับได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา มีภาคประชาชนเสนอกฎหมายเหล่านี้เข้ามา แสดงว่าประชาชนต้องการ เราคงจะไม่ตัดสินใจหรือพิจารณาตามกระแส แต่ต้องพิจารณาตามเหตุผล” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวต่อว่า หากกฎหมายบังคับใช้แล้ว เราต้องไปดูอีกด้านหนึ่งด้วย ให้เขาใช้ชีวิตด้วยกันได้ ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ เราให้โอกาสแต่งงานกัน จดทะเบียนกัน แต่อยู่ได้พักเดียวก็เลิกกัน ก็กลายเป็นปัญหาสังคม ดังนั้นเราต้องช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย เช่น ก่อนจะจดทะเบียนสมรสกัน ให้อยู่ด้วยกันก่อน 6 เดือนได้หรือไม่ เมื่อเข้าเงื่อนไข ก็มาจดทะเบียนกัน

“ผมก็คงเลี่ยงไม่ได้ ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าในสังคมโลกปัจจุบันความจำเป็นที่จะต้องให้คนเพศเดียวกันอยู่ด้วยกัน หมั้นกัน สมรสกัน และเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาหรือระหว่างบุคคลถ้าหย่ากันผลจะเป็นอย่างไร ….ผมเรียนกฎหมายมา เป็นทนายความมา เพราะฉะนั้น กฎหมายมรดกมันเกี่ยวพันกันเชื่อมโยงกันหมด เพราะฉะนั้น เราอย่าเพิ่งคิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นชัยชนะ เราต้องคิดไปไกลกว่านั้น” นายเสรี กล่าว

ขณะที่พลตำรวจโทสานิตย์ มหถาวร อภิปรายว่า ความทุกข์ของประชาชนคือเรื่องของเราเรื่องนี้ต้องเห็นใจพี่น้องชาว LGBT ตนอยากให้กรรมาธิการปรับแก้ช่วงอายุในการสมรส เป็น 20 ปี เพื่อป้องกันปัญหาสังคมที่จะตามมา เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ และ อยากให้กฎหมายฉบับนี้ มีผลทันที ไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อย ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้อยู่ ได้ใช้กฎหมายนี้โดยเร็วที่สุด ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องแก้ไขตาม คิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เช่น การเปลี่ยนแบบฟอร์ม ในระบบราชการเป็นต้น

ด้านตัวแทนภาคประชาชน ผู้เสนอกฎหมาย กล่าวว่าในฐานะเยาวชนที่เป็นกระเทย ขอขอบคุณ สว. ที่เห็นคุณค่า เห็นศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ของ กลุ่ม LGBTQI+ นี่จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในการให้สิทธิ์ ความเป็นธรรมทางเพศ มีความสำคัญต่อลมหมายใจของ LGBTQI+ เชื่อว่ามวลมนุษยชาติจะเห็นว่า การให้สิทธิ์กับพวกเรานั้นเป็นการต่อลมหายใจของพวกเราจริงๆ

ท้ายสุด ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเห็นชอบ 147 ไม่เห็นชอบ 4 คน งดออกเสียง 7 คน จากสมาชิก 158 คน หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาจำนวน 27 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน


แท็กที่เกี่ยวข้อง  สมรสเท่าเทียม

คุณอาจสนใจ

Related News