สังคม

สภาฯ ผ่านร่างกม.สมรสเท่าเทียม ลุ้นเสนอ สว.พิจารณาให้ทันก่อนหมดวาระ

โดย panwilai_c

27 มี.ค. 2567

57 views

สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณา หากได้รับการประกาศใช้เมื่อไร ไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม



การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีวาระสำคัญคือ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว



นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวรายงานถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญ ได้ย้ำว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อคนไทยทุกคน โดยกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น LGBT ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการคืนสิทธิ์ให้คนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่พวกเขาไม่เคยได้รับ และ สำหรับชายหญิงทั่วไปเคยได้รับสิทธิอย่างไร ทุกคนจะไม่เสียสิทธิ์แม้แต่น้อย



กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม ทั้งนี้หากร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมา ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



สาระสำคัญในกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น เป็นการคืนสิทธิให้แก่บุคคล เช่น การแก้ไขคำว่า ชาย-หญิง-สามี-ภริยา เป็นคำว่า บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือ คู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตาม บุคคลสามารถหมั้นและสมรสกันได้ เมื่อทั้งสองฝ่าย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์



เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสภานะ "คู่สมรส" ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่น ๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ "คู่สมรส" เช่น สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์



และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News