สังคม

สำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังเหมืองแร่ทอง จ.เลย เลิกกิจการ ชาวบ้านร้องไร้เยียวยา-แผนฟื้นฟู

โดย panwilai_c

19 มี.ค. 2567

135 views

กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กำลังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู เยียวยา สภาพแวดล้อม และชุมชน เพิ่มความจริงใจและใส่ใจต่อการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองทอง ของบริษัททุ่งคำ ที่อำเภอวังสะพุง เพราะเห็นว่าแม้กิจการได้ยกเลิกไป เพราะถูกฟ้องล้มละลาย แต่ยังทิ้งผลกระทบและความเสียหายให้กับชุมชนอย่างมาก



ภูเขาหลายสูงชันหลายลูกสลับกันไป ตั้งอยู่คาบเกี่ยวหลายตำบลของเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แต่สำหรับภูเขาที่ถูกเจาะ ขุด ทะลวง จากยอดเขาไปจนถึงระดับลึกกว่าพื้นราบของภูเขา นั้นอยู่ในเขตบ้านนาหนองบง และอีก 5 หมู่บ้าน ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่หลงเหลือไว้หลังจากเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ จำกัด เลิกกิจการพร้อมกับถูกฟ้องล้มละลาย



อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหลือไว้ ไม่เพียงเฉพาะร่องรอยการถลุงเอาสินแร่ทองคำออกไปเท่านั้น แต่ยังเหลือโครงสร้างเศษเหล็ก ที่เป็นโรงแต่งแร่ ปนเปื้อนด้วยสารเคมีหลายชนิดที่ใช้กระบวนการนี้โดยเฉพาะไซยาไนด์ สารหนู หรือแคดเมียน ยังตกค้างเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงกองสินแร่ ที่ขุดขึ้นมาแล้ว นำมากองไว้ในที่โล่งแจ้งกลางแดดและฝน โดยไม่มีรั้วรอบขอบชิดที่จะสกัดกั้นไม่ให้สารต่างๆที่อยู่ในสินแร่นี้ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ



ข่าว 3 มิติ พร้อมด้วยนักวิชการด้านสิ่งแวดล้อมหลายเครือข่าย ลงไปพื้นที่ ที่เคยเป็นเหมืองทองคำแห่งนี้ ที่ขณะนี้มีชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ที่ต่อสู้กับเหมืองนี้มาตั้งแต่ต้น ทั้งให้ข้อมูลและขับเคลื่อนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม



เหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ มี บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้รับสัมปทาน ทั้งหมด 6 แปลง 3 แปลงแรกเนื้อที่ 592 -3-32 และ 3 แปลงหลัง รวมเนื้อที่ 5 ไร่ 32 ตรว.



การถลุงแร่มีขึ้นเมื่อปี 2551 ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้านบางกลุ่ม และสนับสนุนอีกบางกลุ่ม ทำให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน แตกออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างสนับสนุนที่เห็นว่าจะสร้างความเจริญให้ชุมชนและกลุ่มที่คัดค้านเพราะเห็นว่าจะเกิดผลกระทบมากกว่า



ระหว่างนี้ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดถูกกิจการฟ้องร้องมากกว่า 20 คดีเรียกค่าเสียหายนับ 100 ล้านบาท จากการขัดขวางไม่ให้นำสินแร่ออก แต่ในปี 2561 กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 165 คน ได้ฟ้องบริษัทุ่งคำ ในความผิดละเมิด และเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพรบ.การสาธารณสุข ซึ่งศาลจังหวัดเลยพิพากษาชาวบ้านชนะคดีและบริษัททุ่งคำต้องชดใช้เยียวยาและฟื้นฟู



และ ในปี 2561 เช่นกัน ธนาคารดอยซ์ แบ็งก์ เอจี ได้ฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ให้บริษัททุ่งคำ ล้มละลาย และให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัททุ่งคำทั้งหมดเด็ดขาด จนมาถึงปัจจุบัน



กิจการและสิ่งที่จะเป็นทรัพย์สินของบริษัททุ่งคำ จึงถูกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา



ขณะที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เห็นว่านอกจากยังไม่ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวแล้ว แม้แต่แผนการฟื้นฟูชุมชนยังไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน และสัมพันธภาพคนในชุมชนที่แตกแยกตลอดระเวลาที่เหมืองดำรงอยู่ หรือแม้แต่ขั้นตอนรื้อเศษเหล็กและชิ้นส่วนโรงแต่งแร่ ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี ก็ไม่มีมาตรการรัดกุม



ตอนนี้ภาควิชาการด้านสิ่งแวดล้อม องค์กร หรือมูลนิธิ พร้อมกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกำลังขับเคลื่อนการฟื้นฟูเหมืองทองคำนี้โดยที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในทุกการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็กำลังเฝ้าดูท่าทีจากภาครัฐว่า จะมีมาตรการฟื้นฟู เยียวยา ผลกระทบที่เกิดจากการอนุญาตให้เกิดการสัมปทานบนพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้อย่างไร



มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการหลายคน และตั้งคำถามไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ถึงมาตรการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากเหมืองทองคำดังกล่าว

คุณอาจสนใจ