เลือกตั้งและการเมือง

เอกชน ควง ‘ศรัณย์วุฒิ’ ร้อง รมว.ศึกษาฯ ระงับประมูลพิมพ์แบบเรียน สกสค.ปี 67 เหตุล็อกสเปก-เอื้อเจ้าเก่า-กีดกันรายอื่น

โดย attayuth_b

28 ก.พ. 2567

43 views

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายนัทธพลพงค์ จิวัจฉรานุกูล กรรมการบริหาร บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด (บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ) ผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ และรับจ้างพิมพ์หนังสือ ได้เข้ายื่นทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการกับผู้กระทำผิด กรณีการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ งบประมาณ 912,599,700 บาท โดยวิธีคัดเลือก ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เนื่องจากเข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจช่วยเหลือเอื้อประโยชน์บริษัทคู่ค้ารายเก่า และกีดกันบริษัทคู่ค้ารายใหม่ โดยมี นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ร่วมยื่นหนังสือด้วย

นายนัทธพลพงค์ เปิดเผยว่า การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ โดยวิธีคัดเลือก โดยองค์การค้าของ สกสค. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.พ.67 นี้นั้น เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่อไปในทางทุจริตในหลายประเด็น ตั้งแต่ TOR (ขอบข่ายงาน รายละเอียดและคุณลักษณะ : Term of Reference) ที่ไม่ได้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง และของหน่วยงานของรัฐตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด อีกทั้งก็ไม่ได้มีระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะยกเว้นไม่ให้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อประจำปี รวมถึงการใช้วิธีการคัดเลือก ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ)

นายนัทธพลพงค์ กล่าวต่อว่า ใน TOR ยังได้กำหนดการยื่นข้อเสนอว่า ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม โดยผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการของแต่ละกลุ่มที่กำหนดเท่านั้น ถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทุกรายการ ส่งผลให้ สกสค.พิจารณาราคาของผู้ยื่นเสนอได้เพียงน้อยราย เสียประโยชน์ในการพิจารณาราคาตามเกณฑ์ที่ผู้ชนะต้องเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดด้วย ซึ่งเป็นการกีดกันการประกอบธุรกิจที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 อีกด้วย

“แสดงให้เห็นว่า สกสค.มีเจตนาจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบโดยมีหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการให้ยื่นเสนอราคา ก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เคยรับจ้างพิมพ์หนังสือให้แก่ สกสค. ซึ่งมีอยู่ไม่กี่บริษัทที่ได้งานการพิมพ์กับ สกสค.มาโดยตลอด  ถือเป็นการล็อกสเปกผู้ประกอบการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเดิมๆ” นายนัทธพลพงค์ ระบุ

นายนัทธพลพงค์ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อปี 2565 บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้เคยยื่นฟ้อง องค์การค้าของ สกสค. ต่อศาลปกครองกลาง กรณีการจัดจ้างพิมพ์ตำราเรียนที่ขัดต่อกฎหมายมาแล้ว โดย ศาลปกครองกลาง ได้มีสั่งคุ้มครองชั่วคราว และวินิจฉัยว่า การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นเสนอราคาของ สกสค. เป็นการกำหนดคุณสมบัติเกินไปกว่าหลักความโปร่งใส และหลักการป้องกันมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือร่วมกันระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละราย ตลอดจนอาจมีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมนอกจากนี้ในการส่งมอบงานการจ้างพิมพ์ตำราเรียนปี 2566 ก็มีบาฃรายการที่ไม่ตรงตามที่กำหนดใน TOR แต่คณะกรรมการตรวจรับการจ้าง กลับตรวจรับงานการจ้าง ทั้งที่เห็นได้โดยแจ้งชัดว่า งานที่ส่งมอบผิดสเปก อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ  และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย

“TOR การจ้างพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ ในครั้งนี้ ก็เป็นการจงใจทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปี 2560 อีกทั้งสเปกกระดาษที่กำหนดตาม TOR ดังกล่าว ก็กำหนดให้ใช้กระดาษที่สกปรกมีค่า Dirt มากกว่า 100 ppm ซึ่งเป็นกระดาษที่ต้นทุนต่ำมาก ไม่เหมาะสมกับราคากลางที่ตั้งไว้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้รัฐได้รับความเสียหาย” นายนัทธพลพงค์ กล่าว

นายนัทธพลพงค์ กล่าวอีกว่า เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและกระทรวงศึกษาธิการ บริษัทฯ จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ ทำการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว และหากพบว่ามีการกระทำความผิด ก็ขอให้มีคำสั่งการให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป และเนื่องด้วยการจัดให้มีการเสนอราคาตาม TOR ดังกล่าว จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.พ.67 จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งให้ สกสค. ระงับการจัดจ้างตาม TOR ดังกล่าวไว้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่อไป

ด้าน นายศรัณย์วุฒิ กล่าวเสริมว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริหารของ บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยื่นประมูลการพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. มาตั้งแต่ปี 66 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมองว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียนปี 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่อไปในทางทุจริต ส่วนตัวมองว่า องค์การค้าของ สกสค. ไม่ควรจำกัดการยื่นข้อเสนอของบริษัทเอกชนที่กำหนดว่า ใน 30 กลุ่มๆละ 5 แบบเรียน ที่จะมีเปิดให้เสนอราคา ผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการของแต่ละกลุ่มเท่านั้น ถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทุกรายการ ทำให้องค์การค้าของ สกสค.รวมไปถึงนักเรียนเสียประโยชน์ หาก TOR กำหนดให้ผู้เสนอราคาทุกรายมีโอกาสยื่นเสนอราคาได้ทุกรายการของแต่ละกลุ่มแล้ว ย่อมทำให้องค์การค้าฯ พิจารณาราคาจากผู้เสนอราคาได้มากรายกว่า

“ผมรับไม่ได้กับแก๊งมาเฟียใหญ่ที่หากินในกระทรวงศึกษาธิการ จากมูลค่าที่ทำมาหากินในหน่วยงานนี้มีเป็นหมื่นล้านบาท โดยมีไอ้โม่งเป็นเจ้าของธุรกิจโรงงานกระดาษรายใหญ่เป็นผู้นำเข้ากระดาษ และผูกขาดกับข้าราชการกลุ่มหนึ่งในกระทรวง ซึ่งการประมูลพิมพ์แบบเรียนแต่ละครั้ง นักเรียนจะได้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ แต่ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้เลย แต่กลับมีการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการที่ประกอบการด้วยความบริสุทธิ์ ผมจึงต้องมาแฉขบวนการเหล่านี้ เพื่อให้สังคมรับรู้ และขณะนี้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว” นายศรัณย์วุฒิ ระบุ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้ บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ทำหนังสือขอให้ องค์การค้าของ สกสค. ยกเลิก TOR การจัดจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ตลอดจนขอให้ สำนักงาน สกสค., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้เคยยื่นฟ้องสำนักงาน สกสค. ต่อศาลปกครองฐานกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีการประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ราคากลาง 974.79 ล้านบาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2601/2565 และศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.66 ยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี (สกสค.) ที่เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14พฤศจิกายน 2565 เฉพาะในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันไว้ใน TOR ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายประกาศประกวดราคา ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

คุณอาจสนใจ