ข่าวประชาสัมพันธ์ช่อง 3

รัฐบาลไทยและยูนิเซฟ ผนึกกำลังต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผ่านช่องทางออนไลน์ ภัยคุกคามร้ายแรงเด็กไทย

โดย thichaphat_d

8 ก.พ. 2567

66 views

เนื่องในวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ ยูนิเซฟจับมือรัฐบาลไทย ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเพื่อยกระดับการต่อสู้กับการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคามชีวิตเด็ก ๆ ในประเทศไทย โดยภาคส่วนต่าง ๆ ได้รวมตัวกันในงานประชุมระดับชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้เพื่อร่วมกันปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และบริการคุ้มครองเด็กเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญบนโลกออนไลน์


จากรายงานเรื่อง หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand)  ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564  มีเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปีราว 400,000 คนในประเทศไทย หรือร้อยละ 9 ตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบโดยคนแปลกหน้าหรือบุคคลที่เด็กรู้จัก เช่น การส่งต่อภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการแบล็คเมลหรือข่มขู่เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือสิ่งของเป็นการตอบแทน รายงานฉบับนี้ยังพบว่า เด็ก ๆ มักไม่บอกใครและไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือที่ไหน โดยมีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งตำรวจ นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็ก ๆ มักโทษตัวเองและเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนทั่วไปก็คิดแบบนั้นเช่นกัน


การประชุมระดับชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “สู่สภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยและครอบคลุมยิ่งขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชน” จัดโดยยูนิเซฟ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก กฎหมาย และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนเด็กและเยาวชนร่วมกันหาแนวทางและพัฒนากลยุทธ์ด้านนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองเด็กและการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็กไทย


คยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความเสี่ยงและภัยทางออนไลน์เป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ทุกที่และทุกเวลา ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียวและเป็นผู้นำเกม โดยต้องเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่เด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการพัฒนาบริการคุ้มครองเด็กที่ครอบคลุมเพื่อสามารถรับมือกับภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

คิมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้เด็กและผู้ดูแลได้ตระหนักถึงภัยออนไลน์มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ต้องมีการออกมาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มงวดพร้อมกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง  อีกทั้งเน้นไปที่การปรับปรุงบริการคุ้มครองเด็ก การเยียวยาจิตใจ และการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เด็กที่ตกเป็นเหยื่อและเด็กที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว


ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพิเศษ เพื่อให้การละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศเด็กทางออนไลน์ในทุกรูปแบบเป็นความผิดอาญา ซึ่งรวมถึงการล่อลวงหรือกรูมมิ่ง การขู่กรรโชกทางเพศทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์หรือไซเบอร์บูลลี่ โดยกระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการขับเคลื่อนและผลักดันประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังผลักดันให้ยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องและคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงเรื่องภัยออนไลน์  โดยจำเป็นต้องมีการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอในการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติด้วย


ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า
งานประชุมระดับชาติครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจากการประชุม ASEAN ICT Forum on Child Online Protection ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจและยกระดับแนวปฏิบัติของประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติล่าสุดของอาเซียนและสากล โดยมุ่งเน้นไปที่การออกกฎหมายที่ครอบคลุมและการยกระดับการบริการเพื่อคุ้มครองและสนับสนุนเด็กที่เกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์

“เพื่อเป็นการส่งเสริมความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก และเพื่อปกป้องเด็กจากอาชญากรรมไซเบอร์และอันตรายทางออนไลน์ในยุคดิจิทัลที่ไร้ขอบเขต จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ในการร่วมกันเพื่อปกป้องและสนับสนุนการดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติดังกล่าวของอาเซียน”    


นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปิดท้ายว่า “แนวปฏิบัติอาเซียนฯ จะเป็นกรอบให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ บำบัดฟื้นฟู แก้ไข เด็กที่ตกเป็นเหยื่อและเด็กที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจากการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ ต้องนำไปประยุกต์ใช้ ทบทวน และพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การประสานส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระหว่างหน่วยงาน ระหว่างพื้นที่ และระหว่างประเทศ เป็นไปโดยยึดตามหลักการและเป้าหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคนในยุคดิจิทัล”


เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยูนิเซฟได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ออกแคมเปญ #สงสัยไว้ก่อน เพื่อกระตุ้นให้เด็กและวัยรุ่น  "คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน" ก่อนที่จะแชร์รูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์  โดยได้ตอกย้ำว่าการขู่กรรโชกทางเพศและการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ถือเป็นอาชญากรรม แคมเปญนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ และสนับสนุนให้เด็ก ๆ ขอความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงหรือเป็นผู้เสียหาย

คุณอาจสนใจ

Related News