เลือกตั้งและการเมือง

'ปานปรีย์' เผยวงประชุมอียูห่วงเมียนมา หวังกลับมาเป็นปชต. ย้ำมีโครงการมนุษยธรรมชายแดน รับ 'วีซาเชงเกน' ต้องใช้เวลา

โดย panwilai_c

3 ก.พ. 2567

13 views

'ปานปรีย์' เผยวงประชุมอียูห่วงเมียนมา ปรารถนาให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ย้ำไทยมีโครงการมนุษยธรรมชายแดน รับ วีซาเชงเก้น ยังต้องมีกระบวนการ-ใช้เวลา แม้ตัวแทนคุยทวิภาคีไม่ได้มีการปฏิเสธ เหตุอยู่ที่รวมเสียงประเทศในอียู เชื่อหลังจบประชุมมีโอกาสเร่ง FTA เชื่อมสัมพันธ์การค้าให้แน่นแฟ้นขึ้น






2 ก.พ. 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สรุปการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum-IPMF) ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) (ASEAN-EU Ministerial Meeting-AEMM) ครั้งที่ 24 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม



โดยนายปานปรีย์ กล่าวว่า ตนได้มาร่วมการประชุม 2 เวที ซึ่งมีความสำคัญมาก สำหรับอียูก็เป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญ  ไม่ใช่แค่เฉพาะการค้าการลงทุนกับไทย แต่ยังมีความสำคัญในเรื่องความมั่นคง รวมถึงเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลเทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรม ซึ่งในการประชุม โดยเฉพาะในส่วนของเวทีอินโด-แปซิฟิก ก็ได้มีการพูดถึงแทบจะทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ความมั่นคง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนผ่านไปถึงดิจิทัล ก็ยังมีการพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะการเน้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ว่าเวลานี้เกิดอะไรขึ้น ซึ่งหลายประเทศก็พูดในทำนองเดียวกัน ว่าสิ่งที่เขามีความเป็นกังวล คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลและกาซาในตะวันออกกลาง อีกส่วนก็เป็นส่วนของยูเครนและรัสเซีย โดยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เห็นอนาคตว่าจะจบลงอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องที่ดูเหมือนอียูจะให้ความสำคัญมาก



“ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน เขาก็ไม่ได้พูดถึงประเทศอื่น นอกจากเมียนมานะครับ ประเทศเมียนมาก็เป็นประเทศที่ขณะนี้ก็เป็นที่ทราบกันดี ว่าหลังจากการเกิดปฏิวัติภายใน ก็มีความไม่สงบเกิดขึ้น ปัจจุบันนี้ก็มีการสู้รบในประเทศเยอะมาก ทางกลุ่มอียูและอาเซียนก็แสดงความเป็นห่วงว่าประเทศเมียนมาว่าจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป” นายปานปรีย์ กล่าว



นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ทุกคนมีความปรารถนาที่อยากให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเมียนมา นำไปสู่การกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ในส่วนของประเทศไทยเอง เราก็เคยได้นำเสนอการทำพื้นที่มนุษยธรรม (Humanitarian Assistace)  ซึ่งเราได้รับการยอมรับและเห็นชอบจากการประชุมอาเซียนที่หลวงพระบาง ประเทลาว ซึ่งก็มีการพูดคุยกันทั้ง 2 เวที



“ทั้งอียูและอาเซียนก็มีการพูดกันว่ามีความเป็นห่วงประเทศเมียนมา และเห็นด้วยกับแนวทางที่ทางประเทศไทยได้นำเสนอ เรื่องการทำให้เกิด Humanitarian Assistance ในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา” นายปานปรีย์ กล่าว



เมื่อถามว่าโครงการมนุษยธรรมที่ประเทศไทยริเริ่ม อียูสนใจขนาดไหน นายปานปรีย์ กล่าวว่า เขาสนใจมาก ไม่เพียงพูดถึงเรื่องเมียนมาอย่างเดียว เขายังพูดถึงกาซาด้วย ในกาซา เขามีความเป็นห่วงมากว่าเวลานี้ประชาชนก็ได้รับผลกระทบมาก  พวกยา พวกอาหารก็ยังไปไม่ถึงประชาชน



เมื่อถามว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับหลังจากการประชุมครั้งนี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่า มีการพูดกันเรื่อง FTA ซึ่งในอียู หลายประเทศก็พูดกันถึงเรื่อง FTA กับทางอาเซียน ซึ่งประเทศไทยถูกพูดถึงหลายครั้ง เขาก็เห็นด้วยที่ว่าควรจะมีการเจรจาเรื่อง FTA ให้จบโดยเร็ว ซึ่งตนก็คิดว่ามันเป็นทิศทางที่ดีขึ้นในมุมของการมองจากอียู เข้ามาสู่ประเทศอาเซียน ว่าควรจะเร่งรัดในเรื่องนี้



ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าแสดงว่าไม่ใช่ความต้องการของเราฝ่ายเดียว ทางอียูก็อยากให้มีการเรียกร้อง FTA เหมือนกันใช่หรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ใช่ เขาก็บอกว่าทางอาเซียนเป็นเหมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตมาก ดังนั้น ตนคิดเองว่า เขามีความปรารถนาอยากที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ในทางการค้าให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น



เมื่อถามว่าวีซาเชงเก้นเข้าประเทศเบลเยี่ยม ที่มีการพูดหารือในการประชุมวงเล็กตลอด ความเป็นไปได้จะเป็นอย่างไร นายปานปรีย์ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสทวิภาคีกับ 2-3 ประเทศ เช่น ฮังการี เนเธอร์แลนด์ ซึ่งที่พูดคุยมาพบว่ามีการสนับสนุนในการที่จะให้ประเทศไทยได้มีวีซาฟรี



"หมายความได้ว่าเรามีพาสปอร์ต เราก็จะเข้ามาในประเทศที่กลุ่มที่เรียกว่าเชงเก้น โดยไม่ต้องทำวีซากัน ตรงนี้เขาก็สนับสนุนแต่เขาบอกว่า วีซาเชงเก้น ไม่ใช่วีซาเฉพาะประเทศเดียว มันจะต้องมีกระบวนการ ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควร เวลาที่เราอยากจะได้วีซาเชงเก้น เราต้องแสดงเจตจำนงไปที่อียู และอียู จะไปบอกกลุ่มประเทศในสมาชิกของพวกเขาว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะเปิดวีซาเชงเก้น ให้กับประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลา แต่เท่าที่ฟังดูเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ" นายปานปรีย์ กล่าว



นายปานปรีย์ ระบุว่า ตนเชื่อว่าตอนนี้อยู่ในกระบวนการแล้ว อย่างประเทศฮังการี เขาก็เห็นด้วยที่จะเร่งรัดในส่วนนี้ให้กับไทยโดยตรง



นอกจากนี้ เรายังได้พูดคุยกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กับประเทศฮังการี เขาก็ให้การสนับสนุน แล้วเขาก็บอกว่าของเราควรจะรีบดำเนินการในเรื่องนี้เลย ซึ่งคาดว่าช่วงกลางปีนี้ ซึ่งเขาจะได้เป็นประธานอียู ตรงนี้เขาก็บอกว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของเรา ตนจึงบอกเขาไปว่าเวลานี้เราได้แสดงเจตจำนง มีความพร้อมที่จะแสดงเจตจำนงกับทาง OECD แล้ว ซึ่งตอนที่ไปปฏิบัติราชการที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตนได้สอบถามเลขาธิการของ OECD ว่า ทางการไทยได้แสดงเจตจำนงแล้ว ซึ่งทางเลขาธิการก็บอกว่าถ้าเราพร้อมเมื่อไหร่ เขาก็พร้อมที่จะรับใบสมัครของเรา




คุณอาจสนใจ

Related News