เลือกตั้งและการเมือง

'ปธน.เยอรมนี' เยือนไทย พร้อมขยายร่วมมือ-ลงทุน ยินดีการเมืองไทยเข้มแข็ง ‘พิธา’ พ้นผิดคดีหุ้นไอทีวี

โดย petchpawee_k

26 ม.ค. 2567

121 views

นายกฯเตรียมเยือนเยอรมนี มีนาคมนี้สานต่อความร่วมมือ 2 ประเทศ ขณะที่ ปธน.เยอรมนี หยอดคำหวานไทยเป็นที่น่าลงทุน มีข้อได้เปรียบเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน ชี้คำพิพากษา “พิธา” ออกมาดี ถือเป็นการพัฒนาการเมืองไทย


วานนี้ 25 ม.ค. 67 เวลา 11.50 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าวผลการหารือของทั้งสองฝ่าย


โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและภริยา ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งการเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีครั้งแรกในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เยือนปี2545 ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนานถึง 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในสหภาพยุโรปและไทยเป็นคู่ค้า อันดับที่ 3 ของเยอรมนีในอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงเป็นพันธมิตรที่เกื้อกูลกันและกันมาตลอด วันนี้ ไทยและเยอรมนีต่างเห็นพ้องต่อการกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือไทย-เยอรมนี


ในด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยเยอรมนีพร้อมให้การสนับสนุนไทยด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2040 รวมถึงขยายการลงทุน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทยเพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ เยอรมนีจะส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยอย่างต่อเนื่องและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5  


 นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้นำคณะภาคเอกชนเยอรมนีร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ ๆ สำหรับภาคเอกชนเยอรมนีหลังจากที่ไทยกับสหภาพยุโรปสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีได้สำเร็จ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ยังได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งโครงการ Landbridge และโครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย การส่งเสริม Ease of Doing Business รวมทั้งการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างกัน ในโอกาสนี้ ภาคเอกชนเยอรมนีได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาประกอบการในไทยในด้านงานสินค้านานาชาติ และการรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ


นอกจากนี้ ภาคเอกชนดังกลุ่มนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของภาคเอกชนเยอรมนีในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป


และอีกประเด็นสำคัญที่ตนได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คือ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและเยอรมันเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น


ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน โดยปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยประมาณ 7 แสนคน ทั้งนี้ ชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันอยู่แล้ว จึงได้ขอให้ฝ่ายเยอรมนีสนับสนุนไทยให้สามารถบรรลุการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อขอยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนด้วย


ส่วนในช่วงเย็น ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา มีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี


สำหรับพรุ่งนี้ (26 ม.ค.)  ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ


ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยกับเยอรมนี มีความร่วมมือในทุกมิติที่แน่นแฟ้นมากขึ้น


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามีกำหนดที่จะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมีนาคมนี้ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป


ด้านนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระบุว่า ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกว่า 160 ปี ซึ่งได้ทำการค้า และสำรวจเส้นทางเดินเรือ ตั้งแต่เป็นประเทศสยาม จึงเกิดความสัมพันธ์ข้ามระยะเวลามานาน และวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทย ที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็ง และรัฐบาลนี้ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ขอให้ประสบผลสำเร็จ และร่วมผลักดันความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวท่อง ซึ่งในปี 2566 มูลค่าการลงทุนมีถึง 1 4,000 ล้านยูโร โดยประเทศไทยมีบริษัทสัญชาติเยอรมันกว่า 600 แห่งเข้ามาลงทุนภายในประเทศ รวมถึงสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ


 ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ ในทุกๆ ปีมีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันกว่า 2 แสนคน เดินทางเข้ามายังประเทศไทย จึงหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีความร่วมมือ ประสานทำงานร่วมกันในด้านนี้


ทั้งนี้มีความคาดหวังว่าประเทศไทยจะให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ในขณะเดียวกันก็ต้องการเห็นการสร้างความเข้มแข็ง ในการอำนวยความสะดวก ในการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเขตการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศไทย โดยหวังจะเห็นการบรรลุข้อตกลงนี้ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งประเทศเยอรมนีพร้อมที่จะขยายความร่วมมือ โดยเน้นนโยบายลดการพึ่งพาฝ่ายเดียว ขยายการค้าการลงทุนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีภูมิศาสตร์ประเทศที่ดีในการทำการค้า ขณะเดียวกันมีจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ


ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้ถามถึงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรโดยเฉพาะกับเยอรมนี


 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ดีว่าการที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมาสี่เดือนได้มีการเดินทางไปต่างประเทศเยอะและอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้เดินทางไปที่ดาวาส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งได้เจอกับนักธุรกิจชั้นนำทั่วโลก รวมถึงนายกรัฐมนตรีเบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสภาพอียูด้วย เราประกาศชัดเจนว่าประเทศเราเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ และเดือนมีนาคมจะเดินทางไปเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อทวิภาคีกับรัฐบาลอีกครั้ง


 นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งตลอดเวลาสี่เดือนที่มาบริหารประเทศตนเชื่อว่าทุกท่านเห็นอยู่แล้วเรื่องของความสงบ และการให้สิทธิเสรีภาพที่เหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการค้าระหว่างประเทศชัดเจนว่าสี่เดือนที่ผ่านมาเราได้เดินทางไปทั่วโลก และจุดยืนด้านการเมืองเราเป็นประเทศที่ยึดมั่นอยู่กับความเป็นกลางไม่ได้อยู่บนส่วนไหนของความขัดแย้ง เพราะเราเชื่อในเรื่องของความบริสุทธิ์และประชาชนคนไทยที่อยู่ในต่างแดนต้องถูกดูแลอย่างดี


ด้านประธานาธิบดีเยอรมัน กล่าวว่าตนเองยังได้หารือเรื่องสิทธิบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งตนเองก็ยินดี ภายหลังได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ไม่พ้นความเป็นสมาชิกภาพ สส. และได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส.ต่อ โดยคำพิพากษาถือว่าออกมาดี ซึ่งเป็นการดำเนินการทางการเมืองที่ดีของไทย


ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามอีกว่าในกรณีที่บริษัทต้องการกระจายซัพพลายจีนมาจากประเทศจีน มาที่ตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเวียดนามจะได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ ไทยมีแนวทางอย่างไร ที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศไทย และอยากถามประธานาธิบดีว่า เห็นศักยภาพในการลงทุนประเทศไทย ในฐานะที่เป็นตัวเลือกจากประเทศจีนอย่างไรบ้างในมุมมองของเยอรมัน


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่แน่ใจในเรื่องของตัวเลข แต่ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานนี้เช่นกัน ซึ่งมีโรงงานจำนวนหนึ่งในเวียดนาม ที่จะเคลื่อนย้ายมาสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีบริษัทเทคโนโลยีต่างๆจากอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Google หรือบริษัทรายใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศไทย


ซึ่งในการหารือกับประธานาธิบดีเยอรมันนีได้มีการพูดคุยถึงพลังงานสะอาด เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้บริษัทใหญ่ๆมาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนไทยก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่การลงทุน และมีแผนที่ชัดเจนในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน


นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นบีโอไอ ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับนักลงทุนต่างชาติ และแรงงานที่มีฝีมือ เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของไทยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ทั้งระบบดูแลสุขภาพของเราอยู่ในระดับโลก จึงเป็นจุดน่าดึงดูดให้นักธุรกิจย้ายมาอยู่ในไทยโดยนำครอบครัวมาด้วย



ด้านประธานาธิบดีเยอรมัน กล่าวเสริมถึงโอกาสการลงทุนในไทยว่า เวียดนามและไทย เป็นประเทศที่น่าดึงดูด สำหรับนักลงทุนซึ่งจากการหารือไทยมีข้อได้เปรียบ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และไทยยังมีความสนใจ ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางการค้า บริษัทต่างๆที่มาจากสหภาพยุโรปและเยอรมัน โดยจะเห็นได้จากนโยบายและข้อบังคับต่างๆที่เอื้อประโยชน์ในการทำการค้า ที่จะทำให้ร่วมมือกันได้

--------------------------------------------------------

นายกฯ ปลื้ม ประธานาธิบดีเยอรมนีชม “ต้มข่าไก่” ของไทย อร่อยเป็นเอกลักษณ์ บอกเพิ่งเข้าใจความแตกต่างของคำว่า เผ็ด ของคนไทย กับเผ็ดของชาวต่างชาติ


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ถึงการต้อนรับนายฟรังค์ วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ได้มีการหารือร่วมกัน และนายกรัฐมนตรี ยังได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีประเทศเยอรมนี และภริยา ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก


โดยนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ถึง 1 ในอาหารที่เลี้ยงรับรองในวันนี้ และได้รับการชื่นชมจากประธานาธิบดีเยอรมนี คือ ต้มข่าไก่ ว่าเป็นอีกเมนูท้องถิ่น ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ แต่ชาวต่างชาติอาจไม่คุ้นหูมากนัก ปีที่แล้ว (2023) TasteAtlas เว็บไซต์สารานุกรมของอาหารท้องถิ่นทั่วโลก ได้จัดให้เป็นซุปไก่ที่อร่อยอันดับหนึ่ง จาก 10 เมนูซุปไก่ดังจากหลายประเทศ


วันนี้มื้อกลางวัน เราเลี้ยงต้อนรับประธานาธิบดี ฟรังค์ วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ด้วยต้มข่าไก่ ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมนีถึงกับเอ่ยว่า ความอร่อยนี่เป็นเอกฉันท์ แต่เพิ่งจะเข้าใจความแตกต่างของคำว่า เผ็ด ของคนไทย กับเผ็ดของชาวต่างชาติ วันนี้เอง


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Uu_sgeN3TxQ

คุณอาจสนใจ

Related News