สังคม
นายกฯ เตรียมประชุมครม.สัญจร จ.ระนอง ภาคประชาชนรอพบ ค้าน 'แลนด์บริดจ์'
โดย panwilai_c
21 ม.ค. 2567
58 views
ความพร้อมก่อนการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดระนอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร วันที่ 22-23 มกราคมนี้ โดยภาคเอกชนระนอง เตรียมเสนอโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวเป็นประตูอันดามัน ขณะที่รัฐบาลก็เตรียมผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนแต่อยากให้มีการศึกษาผลกระทบและปรับรูปแบบ ส่วนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ก็เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลทำไมไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์
บ่อน้ำพุร้อน รักษะวาริน สวนสาธารณะ เทศบาลเมืองระนอง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและต่างชาติ เพราะเป็นแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ และต่อยอดธุรกิจทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ระนองมีออนเซน 13 แห่ง และเป็นหนึ่งในโครงการที่ภาคเอกชนจังหวัดระนอง เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมถึงการพัฒนาเส้นทางเข้าเมืองระนอง เชื่อมต่อจากจังหวัดพังงา ที่ยังเป็นถนนสองเลนส์ และชำรุด จึงอยากให้สร้างถนนใหม่เชื่อมต่อการท่องเที่ยวจากจังหวัดพังงา รวมถึงจากทางจังหวัดชุมพร เพราะระนองเป็นประตูอันดามัน
ภาคเอกชนจังหวัดระนอง ยังเตรียมเครื่องดื่ม น้ำใบเหลียง ต้อนรับคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งใบเหลียงเป็นราชินีผักของภาคใต้ เมื่อนำมาปั่นกับน้ำส้มจี๊ด จะได้รสชาดที่ชื่นใจ นอกจากนี้ยังเตรียมตุ๊กตา น้องเศรษฐี ให้พี่เศรษฐา นายกรัฐมนตรี ทำมาจากผ้าบาติกลายทรัพย์รักษ์ระนอง เป็นสัญลักษณ์ฝนแปดแดดสี่และดอกอินทนิล ซึ่งเป็นลายผ้าที่ตัดเป็นเสื้อให้คณะรัฐมนตรีด้วย
สำหรับท่าทีของภาคเอกชนต่อโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จ.ระนอง เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนเห็นด้วยที่จะเป็นประโยชน์กับชาวระนองและประเทศชาติ แต่อยากให้มีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม หากมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม เช่นการใช้ตอหม้อ แทนการขุดทะเลลึก ป้องกันปัญหาทรัพยากรทางทะเล และทำโทลย์เวย์ผ่านอำเภอพะโต๊ะแทนรถไฟรางคู่ อาจไม่กระทบสวนทุเรียนการเกษตรที่สร้างรายได้ได้
นอกจากนี้ทาภาคเอกชนเตรียมเสนอให้มีการพัฒนาท่าเรือจังหวัดระนอง ที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมานาน ให้เป็นท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยวทั้งที่จะเดินทางไปเกาะสองของเมียนมา และเกาะท่องเที่ยวในจังหวัดระนอง เช่นเกาะช้าง เกาะะยาม ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากด้วย
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ยังมีการความเห็นที่แตกต่างของชาวจังหวัดระนองและชุมพร ที่เตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และอยากให้นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่รับฟังโดยตรง
จากจุดนี้จะเห็นปากอ่าวอ่าง ที่จะเป็นจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โครงการแลนด์บริดจ์ ในตำบลราชกรูด อำเภเมือง จังหวัดระนอง ที่จะมีการขุดทะเลลึก เนื้อที่กว่า 6 พันไร่ รองรับเรือบรรทุกสินค้าและตู้คอนเทนเตอร์ และท่าเรือเชื่อมกับรถไฟรางคู่ผ่านอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ไปยังท่าเรืออ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยจุดที่ตั้งท่าเรือฝั่งระนองจะอยู่ด้านหน้าเกาะพยาม รวมถึงปากอ่าวคลองลัดโนด ซึ่งจุดนี้เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญของชาวระนองด้วย จนเรียกว่าอาศรมทะเล และจุดนี้ยังอยู่ด้านหน้าเกาะพยาม สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่จะเปลี่ยนจากวิวทะเล เป็นวิวท่าเรือและตู้คอนเทนเนอร์แทน
จุดที่สร้างท่าเรือโครงการแลนด์บริดจ์ ห่างจากเรือคลองลัดโนด ประมาณกว่า 3 กิโลเมตร ที่นี่แหล่งท่องเที่ยวล่องแพเปียก แหล่งท่องเที่ยวชุมชุนที่กำลังเป็นที่นิยมที่เรียกว่า เวนิช ระนอง สามารถนั่งเรือออกไปตามป่าชายเลน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สวยงาม เป็นพื้นทีชุ่มน้ำโลก หรือแรมซ่าไซส์ และเสนอเป็นมรดกโลกเพราะเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่นี่นอกจากจะออกเรือหาปลา หาปูแล้ว ยังมีเรือท่องเที่ยว ที่จะพาไปชมแพปูนิ่ม ซึ่งเป็นศูนย์ท่องเที่ยวชุมชน และเล่นแพเปียก รวมถึงพักในฟาร์มสเตย์ ที่ชาวบ้านห่วงผลกระทบทางระบบนิเวศน์ จะกระทบทั้งอาชีพประมงและการท่องเที่ยวด้วย
ชาวบ้านหมู่ 3 ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จึงอยากให้ สนข.กระทรวงคมนาคม ที่เสนอโครงการแลนด์บริดจ์ ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน เพราะไม่ใช่เพียงหมู่ 2 และ 4 และอยากให้นายกรัฐมนตรีที่จะมาลงพื้นที่วันพรุ่งนี้ได้มาเห็นพื้นที่จริงด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จ.ระนอง ซึ่งอยู่ห่างจากปากอ่าวอ่าง จุดจากท่าเรือแลนด์บริดจ์ ไม่ถึง 2 กิโลเมตร ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย และจะเป็นปัญหาซ้ำซ้อน เพราะคนไทยพลัดถิ่นอีกจำนวนมากยังไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน แม้เป็นคนไทยที่เคยอยู่เกาะที่ไปตกเป็นดินแดนของเมียนมา เมื่อกลับมาไทยผ่านการต่อสู้ได้ พ.ร.บ.สัญชาติ เมื่อปี 2555 แต่กระบวนการทำบัตรประชาชน ยังล่าช้า ก่อนที่รัฐบาลจะทำโครงการขนาดใหญ่ จึงอยากให้ทำเพื่อคนไทยให้สิทธิคนไทยพลัดถิ่น เพราะหากไม่มีบัตรประชาชนก็จะไม่มีส่วนร่วมกับการพัฒนา และอยากบอกเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง
ส่วนเครือข่ายพะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จังหวัดชุมพร จัดเวทีทำไมไม่เอาแลนด์บริดจ์ มีทั้งชาวพะโต๊ะ ชาวอำเภอหลังสวน จ.ชุมพร และชาวบ้านจากจังหวัดระนองที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวพะโต๊ะที่ม่ีสวนทุเรียน อยากให้รัฐทำการศึกษาให้รอบด้าน ชาวบ้านมีรายได้จากสวนทุเรียนและผลไม้ ที่หากต้องเวนคืนทำรถไฟก็คงไม่คุ้มกับการเสียที่ดินกับอาชีพไป และชาวบ้านยังยืนยันว่าไม่มีทุนต่างชาติหรือ เอ็นจีโอหนุนหลัง อย่างคนรุ่นใหม่เรียนจบปริญญาโท ก็ยังมาทำสวนมังคุด
นอกจากนี้เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะยังแสดงจุดยืนไม่เอาแลนด์บริดจ์ผ่านป้ายภาษาอังกฤษ ที่คนพะโต๊ะมาอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ยืนยันว่าเขียนภาษาอังกฤษได้ ไม่มีนายทุนหรือเอ็นจีโอหนุนหลังจึงไม่อยากให้มาดูถูกชาวพะโต๊ะ และในวันที่ 23 มกราคม ที่จะมีการประชุม ครม.สัญจร ที่จ.ระนอง เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จึงอยากพบนายกรัฐมนตรี เพื่อบอกเหตุผลว่าทำไมไม่เอาแลนด์บริดจ์ด้วยตัวเอง
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และชาวระนอง ยังนำป้ายผ้า โน แลนด์บริดจ์ ไปชูเป็นสัญลักษณ์ ที่ภูเขาหญ้า แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดระนอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีชาวระนองที่ไม่เอาแลนด์บริดจ์ด้วย
แท็กที่เกี่ยวข้อง ประชุมครม.สัญจร ,โครงการแลนด์บริดจ์ ,จ.ระนอง