สังคม

รองผู้ว่าฯ กทม. แจงผังเมืองรวม ไม่เอื้อนายทุน ขยายเวลารับฟังความเห็นปชช. ถึงสิ้น ก.พ.นี้

โดย chiwatthanai_t

9 ม.ค. 2567

78 views

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนในร่างการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันนั้นมีการตั้งข้อสังเกตถึงผังเมืองที่มีลักษณะแดงเซาะร่อง คือ เป็นแปลงสำหรับที่ดินพาณิชย์ที่ถูกอยู่ท่ามกลางจากแปลงประเภทอื่น จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มีการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่ โดยวันนี้กทม.ได้นำข้อมูลร่างผังเมืองที่กำลังจัดทำในตอนนี้มาเปิดเผย พร้อมชี้แจงในรายละเอียด 

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ระหว่าง ปี พ.ศ. 2560 – 2562 ในเวทีรับฟังความเห็นของภาคประชาชน เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา


โดยข้อสังเกตคือพื้นที่สีแดง หรือ พื้นที่พาณิชย์ ที่ถูกจัดโซนนิ่งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และ ใช้เหตุผลอะไรเป็นเกณฑ์ เช่น ไปโผล่ท่ามกลางโซนพื้นที่สีเหลืองที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ขณะที่ บางแห่งไปปรากฎนอกพื้นที่นอกโซนนิ่ง ในลักษณะแดงเซาะร่อง จนนำมาสู่คำถามว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีประชาชนร้องขอประโยชน์ในที่ดินเช่นกัน แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้น


ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งตามปกติแล้วผังเมืองใหม่จะถูกปรับทุก 5 ปี แต่ตอนนี้ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ที่ผังเมืองนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป


โดยผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่จัดทำอยู่ในตอนนี้ พบการเปลี่ยนแปลงในการจัดประโยชน์ที่ดิน 9 จุด ส่วนใหญ่เป็นการปรับที่อยู่อาศัยของประชากรที่มีเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป มีเพียงเขตมีนบุรี ตลิ่งชัน และทวีวัฒนาเท่านั้น ที่ปรับโซนที่อยู่อาศัยให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองตามแนวรถไฟฟ้า


ทีมข่าวได้สำรวจพื้นที่เขตมีนบุรี ที่ตามแผนฉบับเดิม จุดที่เป็นย่านพาณิชยกรรมอยู่อยู่โซนรัศมีรอบสถานีรถไฟฟ้าตลาดมีนบุรี แต่เมื่อผังรวมฉบับใหม่ประกาศใช้ รัศมีก็จะขยายวงออกมาถึงสถานีบางชัน ซึ่งตอนนี้ก็มีที่ดินเปล่าถูกถมไว้ พร้อมใช้ประโยชน์แล้ว


นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า การจัดทำผังเมืองรวมฉบับนี้จะไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนกลุ่มใด หากมีการได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากการปรับผังสี ก็เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติการผังเมือง ได้ระบุขั้นตอนดำเนินงานไว้ 18 ขั้นตอน ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ 5 คือ การรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ที่กำหนดไว้ 7 ครั้ง โดยเพิ่งผ่านครั้งสุดท้ายมาเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา


ข่าว 3 มิติ ได้รับการยืนยันจากรองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ว่า ที่ดินในส่วนที่เป็นประเด็นนั้น อยู่ในแผนผังรวมตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งพบว่ามีการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินเข้ามาตามระเบียบ


สุดท้ายก็ยังไม่มีความชัดเจนในคำตอบจากกรุงเทพมหานคร ถึงเหตุผลในการจัดโซนพื้นที่พาณิชย์แบบแดงเซาะร่อง ตามที่สังคมตั้งคำถาม โดย กทม.ให้เหตุผลว่าผังนี้ถูกจัดทำตั้งแต่ปี 2554 และประกาศใช้ในปี 2556 แต่เบื้องต้น กทม.ได้ขยายเวลาให้ประชาชนยื่นคำร้องและแสดงความเห็นออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมจากภาคประชาชน และจะนำเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวมในขั้นตอนต่อไป ก่อนที่ขั้นสุดท้ายคือ การประกาศเป็นข้อบัญญัติ กทม.ให้ใช้บังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา

คุณอาจสนใจ