เลือกตั้งและการเมือง

'วิโรจน์' จวกรมว.ศธ.ชื่อ 'เพิ่มพูน' แต่การศึกษา 'ถดถอย' จี้ตัดงบโครงการคนดี ถลุงเงิน-เวลา

โดย panwilai_c

5 ม.ค. 2567

75 views

วิโรจน์ ฟาดรัฐบาล จัดงบเมินแก้วิกฤตการศึกษาไทย รมว.ชื่อเพิ่มพูน แต่การศึกษาไทยมีแต่ถดถอย ล้าหลัง เหมือนหลงทาง ชำแหละยับตัดงบส่วนที่ไม่จำเป็น ที่จำแลงในโครงการคนดี ไปทำประโยชน์อื่นๆได้อีก 15,000 ล้าน ช่วยเด็กยากจนได้ทั้งประเทศไม่หลุดจากระบบการศึกษา



นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องการศึกษา ยกเรื่อง ผลการสอบ PISA ที่คะแนนออกมาตกต่ำ ถดถอย สะท้อนวิกฤตการศึกษาไทย ยิ่งได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 66 ที่บอกว่า "ไม่ขอเทียบกับประเทศอื่น เพราะเรามีมาตรฐานเป็นของตัวเอง" ต้องตกใจและยืนยันว่าเราอยู่ภาวะวิกฤตจริงๆ เพราะคนระดับ รมว. มองว่าปัญหาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นสไตล์ ไม่แปลกใจว่างบ 67 เป็นงบที่ทำงานแบบเดิมๆ คาดหวังความเปลี่ยนแปลงยากลำบาก



การศึกษาไทยไม่ใช่เดินตามหลังประเทศอื่น แต่เป็นการเดินหลงทาง ตามหลังไม่ได้แย่ เพราะมองไปข้างหน้าก็เจอคน อาจถึงเส้นชัยช้าหน่อยแต่ยังไปถึงจุดหมาย แต่ที่ รมว.ศธ. บอกแบบนี้ แปลว่า มองไปข้างหน้าไม่เจอใคร มองหลังไม่เจอคน บางซ้ายเจอฮวงซุ้ย มองขวาเจอป่าช้า เรากำลังหลงทาง แต่จะยังเดินหน้าต่อไป ยิ่งเดินต่อเสบียงยิ่งร่อยหรอ ยิ่งเดินเข้ารกเข้าพง งบใช้ไปเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ / ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ มีรมว.ศธ.ชื่อเพิ่มพูน แต่การศึกษาไทยมีแต่ถดถอย ล้าหลัง



นายวิโรจน์ ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ว่า คะแนนสูงขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว บางคนอาจบอกว่าประเทศเล็ก งั้นลองเทียบกับเวียดนาม คะแนนทั้ง 3 ด้าน เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว / ประเทศไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2000 เด็กรุ่นแรกที่เข้าสอบ ณ วันนี้อายุ 39 ปีแล้ว และผลตกต่ำมาตลอดจนถึง 2022 สะท้อนว่าพลเมืองของไทยอายุ 17-39 ปีสู้พลเมืองโลกไม่ได้เลย เด็กตัวเล็กๆอายุไม่ถึง 15 แต่ยังอยู่ภายใต้ระบบการศึกษาแบบเดียวกัน ที่ยกไม่แก้หลักสูตรอะไรเลยมาหลายสิบปี มีแนวโน้มว่าเด็กเหล่านี้ จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ตกต่ำไม่ต่างกัน เมื่อเด็กเหล่านี้ทยอยสู่วัยแรงงานประเทศเราจะแข่งกับใครได้



เอาผล รร.สาธิต เทียบกับ สพฐ. จะเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ชัดเจน แต่ละปียิ่งต่างกันชัดเจน เพราะ รร.สาธิต ออกแบบหลักสูตรได้เอง บูรณาการหลายวิชาเข้าด้วยกัน สามารถบริหารเวลาเรียนให้มีประสิทธิภาพ บรรยากาศการเรียนการให้เด็กมีเสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ต่างจาก รร.ในสังกัด สพฐ. มีจำนวนไม่น้อยบรรยากาศเต็มไปด้วย อำนาจนิยม การบังคับ การบูลลี่ มีวิชาบังคับให้เรียนเต็มไปหมด เรียนเยอะ สอบแยะ การบ้านเยอะ บังคับให้เข้าร่วมโครงการที่เป็นภาระ นับวันดึงเด็กออกมานอกห้องเรียน ทำกิจกรรมสร้างหน้าตาให้ผู้บริหาร รอคนส่วนกลางมาตัดริบบิ้น



นายวิโรจน์ ยกผลวิจัยระบุว่า การบูลลี่ใน รร. ส่งผลเสียต่อผลการสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ถึง 35 – 55 คะแนน แต่มาดูร่างงบประมาณ67 ตนไม่เห็นการจัดสรรงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอำนาจนิยม และการบูลลี่ใน รร.เลย เหมือนมันไม่มีปัญหา เท่ากับ รัฐบาลนี้ปล่อยให้มีการบูลลี่ต่อไป แก้กันแบบตามมีตามเกิด



ทุกคนรู้ดีว่าเด็กไทยเรียนเยอะมากติดอันดับโลก คือ 56 ชม./สัปดาห์ วันละ 8 ชม. วันหนึ่ง 24 ชม. ตัดเวลานอน 4 ชม. เด็กไทยเรียนไปแล้วครึ่งหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่ผลสัมฤทธิ์กลับไม่ดีอย่างนี้ เวลาเรียนของไทยเป็นรองแค่จีน กับ ยูเออี แต่ผลสอบเราตกต่ำมาก แสดงว่าเวลาเรียนใน รร.ของเราไร้คุณภาพ แทนที่จะเอามาสร้างเวลาแห่งการเรียนรู้ กลับเอามาทำโครงการกิจกรรมต่างๆที่เป็นภาระทางการศึกษา ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคน สิ้นเปลืองงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น



ซึ่ง "งบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น" นี่คือตัวแสบที่สุด เป็น 1 ในปัญหาใหญ่ของ ศธ. พร้อมเทียบกับกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นปัญหาชัดเจน พร้อมยกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และบัตรทอง อย่าง 30 บาท ที่มุ่งเน้นจะให้เงินทุกบาททุกสตางค์ เกิดประโยชน์ทางตรงด้านสุขภาพของประชาชนมากที่สุด



"งบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น" ของ สาธารณสุข จะถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ อยู่ในกรอบภารกิจ 3 เรื่อง 1.ส่งเสริมการป้องกันโรค 2.เพิ่มศักยภาพทักษะทางวิชาชีพ 3.ยกระดับมาตรฐานของสถานพยาบาล เพื่อไม่ให้มีโครงการอะไรก็ไม่รู้ มาดึงเอาเวลาของแพทย์ พยาบาลออกจากสถานพยาบาล หมอมีน้อยอยู่แล้ว ไม่ว่างพอมาทำโครงการเละตุ้มเปะ ทำให้การบริหารงบ สธ. ดีกว่า ศธ.อย่างมาก



นายวิโรจน์ เปิดดกราฟิก สัดส่วนของงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น เทียบกับงบทั้งหมด (ไม่รวมงบบุคลากร) ของ ศธ. พบกว่าสูงกว่า สธ. กว่าเท่าตัว อย่างปี 63 สธ. อยู่ที่ 8.41% ส่วน ศธ. 19.33% คิดเป็นเงินอยู่ที่ 1 หมื่น 5 พันล้าน ปีต่อๆมาก็สูงระดับหมื่นล้านทั้งสิ้น ตนเข้าใจว่า กระทรวงศธ.รู้และพยายามลดงบแล้ว แต่ยังไม่พอ / ตนยืนยันว่า งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น ที่ซ่อนอยู่ในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์กับนักเรียน หรือผู้เรียน ยังมีอีกมาก แต่มีวงเงินต้องสงสัยอยู่ราวๆ 8,256 ล้านบาท



ย้อนกลับไปปี 63 – 67 งบส่วนนี้มีสูงมาก สูงกว่างบประมาณของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ด้วยซ้ำ ถ้าลงรายละเอียกเนื้อโครงการเชื่อว่าปรับลดได้อีก เช่น ภารกิจซ้ำซ้อน หรือ โครงการที่บูรณางานไปในวิชาปกติได้ ตนลองเอามากางแล้วจิ้มทีละรายการรวมกันได้ 2,117 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย



โครงการเหล่านี้มักใช้เล่ห์เพทุบายตั้งชื่อโครงการให้ดูเป็นคนดี เอาชื่อที่เหมือนเป็นคนดีมาเป็นเหมือนเกราะป้องกันการตัดงบ ใครที่ตัดลดงบก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง ไม่เห็นแก่เด็กตาดำๆ แต่ไปดูที่รายละเอียดแล้วจะพบว่าโครงการเหล่านี้เต็มไปด้วยภาระของครูและนักเรียน ต้องไปถ่ายรูปทำรายงานติดบอร์ด เด็กถูกดึงเป็นนักแสดงประกอบฉาก หลอกคนส่วนกลางมาลูบหัว หลายโครงการไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของกระทรวงศธ. เพราะมีหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว



อาทิ โครงการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันยาเสพติด และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเพสติดในสถานศึกษา ถ้าวันนี้ตนเสนอตัด 2 โครงการนี้จะถูกต่อว่าทันทีว่า ไม่ห่วงลูกหลาน อยากให้ติดยาหรือไง ? รับรองโดน



โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และโครงการสร้างเสริมสร้างระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตนอ่านยังสำลึกความเป็นคนดี ถ้าตัดงบถูกด่าแน่นอน ว่าอยากให้เด็กเป็นพวกสาบกีบชังชาติหรอ ตนอยากบอกประธานว่า ป้องกันยาเสพติด หรือ บ่มเพาะจริยธรรม ต้องทำ แต่สิ่งต่างๆทำได้ผ่านโฮมรูม การสอดแทรกในวิชา สังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง สุขศึกษา แนะแนว ลูกเสือ ไม่เห็นต้องแยกโครงการออกมา



โครงการเกี่ยวกับ 3 จว.ชายแดนใต้ ถ้าใครเสนอตัดงบก็ถูกกล่าวหาว่าไม่เห็นใจเด็กในชายแดนใต้ ตนบอกว่าอย่าดูแค่ชื่อโครงการต้องเจาะดูใส่ในด้วยตนดูแล้ว ส่วนแต่มีกองทัพหรือ กอ.รมน.ทำอยู่แล้ว มีภารกิจซ้อนหลายภารกิจ หลายโครงการไม่ได้มีประสงค์หลักเพื่อการศึกษาและน่าจะเป็ยงบที่ กอ.รมน.เอามาฝากเลี้ยงเอาไว้



โครงการที่ลงท้ายด้วย "ศตรวรรษที่ 21" ถ้าไปตัดจะถูกกล่าวหาว่า ไม่อยากให้ประเทศพัฒนาในศตรวรรษที่ 21 หรือไง แต่เรียนตรงๆ คำว่า ศตรวรรษที่ 21เจอบ่อยมากในกระทรวง ศธ. ถ้าเราจัดงบแบบนี้ เราจะตกต่ำไปตลอดศตรวรรษที่ 21 พอพ้นศตรวรรษที่ 21 ชื่อโครงการแบบเดิมยังอยู่แต่เปลี่ยนเป็น ศตรวรรษที่ 22 ลองไปดูไส้ในเต็มไปด้วยการจ้างที่ปรึกษา ให้ครูไปอบรมในหัวข้อไม่เกี่ยวกับการสอน หลายภารกิจซ้ำซ้อนกับกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นอำนาจจากส่วนกลาง และเขตพื้นที่ในการใช้งบที่อาจหวังเงินทอนแต่มาถลุงเวลาครู



อีกปัญหาที่เรื้อรังของการศึกษาไทย คือ โรงเรียนขนาดเล็ก คือ มีนร.น้อยกว่า 120 คน ข้อมูลจาก สพฐ. ระบุว่า ปี 66 มีถึง 14,996 แห่ง เกินครึ่งจาก รร.ทั้งหมด และที่น่ากลัวยังมี รร.ที่กำลังเล็ก คือมีนักเรียน 121 – 200 คนอยู่ราวๆอีก 7,000 แห่ง ได้งบน้อยกว่า รร.ขนาดใหญ่ แน่นอน เพราะ ศธ. คิดงบรายหัว ยังไงก็ไม่พอ ทำให้ทุกแห่งประสบปัญหางบไม่พอ ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน อาคารขาดการดูแล



อัตรากำลังครูผู้สอนใช้หลักเกณฑ์ ครู ต่อนักเรียน ทำให้ประสบปัญหาครูไม่ครบชั้น 1 คนต้องสอนหลายชั้นหลายวิชา เด็กบางคนต้องเรียนกับทีวี ที่ผ่านมาจนถึงปีงบ 67 ศธ.ไม่คิดแก้จริงจัง เหมือนป่วยโรคร้ายให้กินแค่ยาพารา การควบรวม รร.ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ จากปี 63 มีเป้าควบรวม 400 แห่งทำได้แค่ 169 จากนั้นปรับเป้าลงมาเหลือ 350 แห่ง กลับทำยอดจริงแต่ลดลงเหลือแค่ 80 แห่ง 41 แห่ง มาปี 66ดีขึ้นมาหน่อยควบรวมได้ 152 แห่ง แต่มีปี 67 ปรับลดเป้าลงมาเหลือแค่ 200 แห่งเท่านั้น และไม่รู้ว่าจะควบรวมได้กี่แห่งกันแน่ และปัญหาเรื่องจัดงบที่ไม่เพียงพอก็มีปัญหาตามมา เหมือนที่ผ่านๆมาควบรวมตามยัตถากรรม ถ้ายังแก้ปัญหาแบบนี้ ต้องใช้เวลาอีก 91 ปี อย่างน้อยแก้ปัญหา รร.ขนาดเล็กได้ และถูก PISA ประจานคะแนนในเวลาโลกไปอีก 30 รอบ ถ้าไม่แก้ปัญหา รร.ขนาดเล็กได้ ไม่มีวันยกระดับคุณภาพทางการศึกษาไทยได้เลย



นายวิโรจน์ ยกสูตรเรื่องแก้ ปรับลโครงการที่สร้างภาระทางการศึกษา ที่ได้มา 2,117 ล้านบาท และแก้ปัญหา รร.ขนาดเล็ก ลดงบลงอีก 12,985 ล้านบาท จะได้เงินทั้งหมด 15,102 ล้านบาท ต่อปี เอาไปใช้ใหม่คือ 4 พันล้านบาท เป็น งบอุดหนุนเฉพาะกิจให้ อบจ.ทั่วประเทศ เพื่อทำรถ รร.ภายใน จังหวัด อีก 6 พัน 6 ร้อยล้าน จัดสรรงบเพิ่มให้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เด็กยากจนพิเศษ 1 ล้าน 3 แสนคน ได้รับทุนจากเดิม 3 พันบาท เป็น 4,200 บาททันที เด็กยากจนอีก 1 ล้าน 2 แสนคนที่ตกหล่นจะได้ทุนด้วย ทำให้เด็กจนทั่วประเทศ 2.5 ล้านคนได้รับการช่วยเหลือทุกคน ยังเหลือเงินให้จัดสรรอีก 4,502 ล้านบาท



นายวิโรจน์ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลบอกประชาชนว่าประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต ในมิติทางการศึกษาตนเห็นว่าวิกฤตจริงๆ แต่ทำไมจัดงบออกมาแบบนี้ เหมือนกำลังบอกให้พ่อแม่ทุกคนยอมให้ลูกหลานตัวเองเรียนหนังสือแบบเดิมๆในระบบการศึกษาที่สิ้นหวัง ยอมจำนนให้อำนาจนิยมและการกดขี่ ยอมให้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุง เป็นหลักสูตรล้างสมองขโมยเวลาชีวิตไปอย่างสูญเปล่า สุดท้ายเด็กๆเติบโตเป็นพลเมืองที่ไม่กล้าคิด กล้าฝัน ไม่กล้าคิดตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ เป็นได้แค่บ่าวไพร่ที่คอยทำงานตามคำสั่งของนาย แล้วค่อยๆแก่ตายในประเทศที่ต้องคำสาปนี้ จึงเป็นเหตุผลทั้งหมดที่ตนไม่เห็นด้วยกับงบ 67 ฉบับนี้ได้ แม้ตายเป็นเถ้าถ่าน



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/m0Y_jJwl3jY

คุณอาจสนใจ

Related News