สังคม

ส.สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ ยื่น 19 ข้อเรียกร้อง ก.เกษตรฯ หวั่นกฎหมายใหม่ ลิดรอนสิทธิ

โดย nut_p

24 ธ.ค. 2566

57 views

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ยื่นข้อเรียกร้อง 19 ข้อต่อร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นห่วงการแก้ไขกฎหมายประมง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในต้นปีหน้า มีการลิดรอนสิทธิชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ขอให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย



ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หาดประพาส ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เปิดการประชุมสมัชชาประมงพื้นบ้านประเทศไทย และรับหนังสือจากสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ที่เสนอ 19 ข้อ เช่น การสนับสนุนน้ำมันราคาต่ำ การทำท่าเทียบเรือ การประกาศใช้กฎหมาย กำหนดอัตรการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลาทู ปลากุเลา ปลาอินทรีย์ การออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านและโควต้าสัตว์น้ำ รวมถึงการประกาศหยุดจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และสนับสนุนให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ พรบ.ประมงฉบับใหม่ ซึ่งร้อยเอกธรรนัส ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้านและการแก้ปัญหาประมงทั้งระบบ ซึ่งมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประมงพื้นบ้านแล้ว และการลงพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อยืนยันว่าให้ความสำคัญกับภาคประชาชน



นอกจากนี้ยังมีภาคเครือข่ายยื่นจดหมายกับร้อยเอกธรรมนัส เช่น เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะที่คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร และเครือข่ายประมง ที่เป็นห่วงว่าโครงการขนาดใหญ่จะกระทบอาชีพประมงพื้นบ้านด้วย ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส ยืนยันว่ารัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบ



นอกจากนี้ มีเวทีเสวนาประมงพื้นบ้านอยู่ตรงไหนในพื้นที่การแก้ไขกฎหมายประมง โดยนายปิยะ เทศแย้มเปิดเผยด้วยว่า เขาเป็นเสียงเดียวในคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการประมง พบว่ามีแนวโน้มร่างกฎหมายฉบับพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะเป็นฉบับรัฐบาลด้วยนั้น จะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นร่างที่เปลี่ยนนิยามของประมงพื้นบ้านให้เป็นเรือที่ต่ำกว่า 5 ตันกลอส ทำประมงเขตชายฝั่งและเพื่อยังชีพ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งควรเป็นการทำการประมงที่ต่ำกว่า 10 ตันกลอส และทำการประมงนอกชายฝั่งได้



นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เห็นด้วยว่ากฎหมายประมงฉบับใหม่ต้องไม่ทำลายประมงพื้นบ้าน แต่หากมีข้อจำกัดนิยามทางกกฎหมาย อาจเปลี่ยนเป็นชาวประมงรายย่อย เหมือนหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งกำลังให้ความสำคัญกับชาวประมงขนาดเล็ก



นายกฤช ศิลปชัย สส.จ.ระยอง พรรคก้าวไกล ยอมรับว่า ร่างของพรรคก้าวไกลก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันภายใน แต่เห็นด้วยกับข้อห่วงใยของประมงพื้นบ้าน ที่การทำประมงไม่ได้มีเพื่อดำรงชีพเท่านั้น



นายนัฐวุฒิ กาเซ็ม มูลนิธิความยุติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยที่จะให้ภาคประมงพื้นบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายประมง ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาของสหภาพยุโรป เพราะการลดบทบาทประมงพื้นบ้านอาจขัดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาเปิดการค้าเสรีหรือ FTA



ขณะที่ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง พระราชกำหนดประมง 2558 ที่แก้ไขหลังอียูให้ใบเหลืองประมงไทย ได้ให้สิทธิกับประมงพื้นบ้านมากที่สุด การแก้ไขกฎหมายก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของประมงพาณิชย์ด้วย ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการแก้ไขกฎหมายประมงที่จะมีขึ้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

คุณอาจสนใจ