สังคม

ไม่ย้าย! อุเทนฯ นับพันยื่น 9 ข้อเรียกร้อง ลุยทวงที่ดินสถาบัน ขอออกโฉนดเป็นที่สาธารณะเพื่อการศึกษา

โดย panwilai_c

27 ก.พ. 2567

126 views

อุเทนถวายฯ มาตามนัด ระดมศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันนับพันคน เดินหน้าทวงที่ดินสถาบัน ให้ออกโฉนดเป็นที่ดินสาธารณะ ยืนยันไม่ย้าย-ไม่ถอย



นัดชุมนุมครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดรวมตัวกันทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันภายในรั้วสถาบัน ก่อนจะถือฤกษ์ 9 โมง ทำพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม แล้วเริ่มจัดรูปขบวนเพื่อเดินทางไปตามสถานที่ราชการต่างๆ นักศึกษาที่ร่วมเดินขบวนถือธงสถาบัน ธงชาติ และป้ายข้อความคัดค้านการย้ายสถาบัน



นาย ธนัช วชิระบงกช ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน กล่าวว่า สำหรับการเดินขบวนยื่นหนังสือในวันนี้ เป็นการยื่นข้อเรียกร้องวนประเด็นหลักๆ คือ คัดค้านการย้ายอุเทนถวาย ขอให้อุเทนถวายมีเอกภาพในการบริหารจัดการการเรียนการสอนของตัวเอง ขอให้ยกเลิกคำสั่งการโยกย้ายบุคลากรไปที่ตั้งแห่งใหม่ และขอให้พิจารณาจัดหาคนกลางในการเจรจาที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุเทนถวาย



จุดแรกที่ไป คือ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมยื่น 9 ข้อเรียกร้อง แต่ใจความสำคัญ คือ คัดค้านย้ายอุเทนถวายฯ ขอให้จดทะเบียนโฉนดที่ดินตรงนี้ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้เป็นสถานศึกษาเท่านั้น และตั้งคณะกรรมการภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ส่งตัวแทนมารับหนังสือ และพูดแค่ว่า จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมให้



สำหรับหนังสือที่ยื่นคัดค้าน มีใจความสำคัญคือข้อเรียกร้อง 9 ประการ คือ



1.คัดค้านการย้ายเขตพื้นที่การศึกษา



2.ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอุทิศที่ดินแห่งนี้เพื่อการศึกษา



3.ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยึดหลักบทบัญญัติที่ว่าไว้ใน พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นสถานศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่างๆ และส่งเสริมวิชาชีพขั้นสูง ซึ่งอุเทนถวายก็ได้จัดการเรียนการสอนที่เป็นวิชาชีพเฉพาะทางขั้นสูงด้านการก่อสร้าง



4.ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยึดหลักเชิดชูการศึกษาเป็นที่ตั้ง ให้เหมาะกับปณิธานของจุฬาลงกรณ์ฯ



5.ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยุดและปรับเปลี่ยน การพัฒนาพื้นที่ โดยมุ่งเน้นเป็นการรักษาและพัฒนาการอยู่ร่วมกันของพื้นที่เพื่อการศึกษา ที่ควรเป็นสาธารณสมบัติของชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ควรอ้างแค่เพียงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน



6.ร้องขอความเป็นธรรมให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เหตุที่ดินพิพาทที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งได้อุทิศโดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเนื้อที่เป็นส่วนน้อยของที่ดินของนิติบุคคลจุฬาฯ แต่มีเหตุขัดข้องให้หยิบยกแปลความพระราชประสงค์ผิดไป



ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำข้อยุติปัญหาการนำที่ดินพิพาท ด้วยการจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาท เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาเท่านั้น และออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามกฎหมาย



7.ขอให้ทำจารึก พันธะสัญญา ข้อตกลงที่จะรักษาทำนุบำรุงเพื่อการศึกษาด้านวิชาชีพขั้นสูงในชื่อทางด้านประวัติศาสตร์ "อุเทนถวาย" เพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณสมบัติของชาติ โดยมิอาจเปลี่ยนแปลง ยุบ ย้าย และมุ่งเรื่องนิติธรรมเป็นที่ตั้ง



8.ขอให้ออกหนังสือตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ฝ่าย สัดส่วนเท่ากัน และมีคนกลางจากบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย



9.กรณีสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานรัฐว่า อุเทนถวายได้เซ็นข้อตกลงยินยอมคืนพื้นที่ และชำระค่าเช่าที่ดิน โดยทำข้อตกลงเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2547 จนเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาทนำไปสู่การยื่นฟ้องขับไล่นั้น ข้อเท็จจริงคือ สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่เคยชี้แจงเอกสารหนังสือยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยหนังสือยกเลิกได้ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2548 และตัวแทนได้นำไปยื่นกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ แล้ว



ส่วนบรรยากาศที่ กระทรวงอว.เมื่อไปถึงศิษย์เก่าอุเทนถวาย ไม่พอใจ "ศุภมาส" รมว.อว.ตำหนิการให้สัมภาษณ์สื่อ รับผิดชอบคำพูด ขณะที่คุณศุภมาสก็ทำตามสัญญา มารับหนังสือข้อเสนอของนักศึกษาด้วยตนเอง



ช่วงจังหวะที่กลุ่มนักศึกษาได้เคลื่อนขบวนต่อไปที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรี อว.ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมครม.ว่า พร้อมรับหนังสือด้วยตนเอง และย้ำว่า พยายามให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความละมุนละม่อมที่สุด ทั้งนี้ ได้พูดกับฝั่งอุเทนถวายเสมอว่า "เราฝั่งเดียวกัน" เพียงแต่ต้องทำตามกฎหมายที่ออกมา ซึ่งหวังว่า จะคลี่คลายปัญหา และ มีทางออกที่ทุกคนพอใจได้



ส่วนที่กระทรวงอว.เมื่อใกล้ขบวนไปถึง เจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูทางเข้าฯ ภายในกระทรวง มีกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนยืนเรียงแถวหน้ากระดาน พร้อมโลห์ อุปกรณ์พร้อม และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าไปในพื้นที่ ส่วนเจ้าหน้าที่วันนี้ได้ทำงานอยู่ที่บ้าน (WFH)



ต่อมา เวลาเที่ยง 10 นาที ขบวนเดินเท้าเคลื่อนมาถึง โดยมีมอเตอร์ไซค์ขับนำขบวน ก่อนสั่งปิดการจราจรบนถนนโยธี ด้านหน้ากระทรวงฯ



จากนั้นศิษย์เก่าไปเจรจากับตำรวจขอให้นักศึกษาเข้าไปภายใน ก่อนได้รับอนุญาตให้เพียงนักศึกษาปัจจุบันเข้าไปได้ประมาณ 300 คน



จังหวะนั้น มีศิษย์เก่าคนนี้ เรียกให้นักศึกษาเข้ามาภายในกระทรวงฯให้เยอะๆ ไม่ต้องกลัว พร้อมฝากบอกไปถึง รัฐมนตรี อว.ว่า "อย่าปากแจ๋ว ให้รับผิดชอบ รักษาคำพูดด้วย พูดอะไรกับสื่อไว้ ไปเจอกันที่ศาล "



เมื่อกลุ่มศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ปักหลักรอยื่นหนังสือกับคุณศุภมาส โดยนักศึกษาปัจจุบันอยู่ภายใน บางส่วนจัดกิจกรรมปราศรัยบนรถอยู่ด้านนอก ถึงเวลา บ่ายโมง ตามกำหนดยื่นหนังสือ แต่คุณศุภมาสยังมาไม่ถึง ทางกลุ่มจึงยกระดับการชุมนุม รื้อแผงเหล็กที่กั้นไม่ให้เข้าภายใน เพื่อเข้าไปภายในลานด้านหน้าของกระทรวงทั้งหมด โดยเดินถือป้ายผ้า บางคนก็ถือธงเข้ามา ท่ามกลางการดูแลความเรียบร้อยของตำรวจ โดยไม่มีเหตุรุนแรง



และเมื่อคุณศุภมาสมาถึงได้ให้ตัวแทนนักศึกษาอุเทนฯพร้อมประชาคมอุเทนถวาย เข้ามาพูดคุยพร้อมผู้บริหารกระทรวง โดยภายหลังพูดคุย ประมาณ 30 นาที



จากนั้นคุณศุภมาส ได้เดินออกมาให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า ได้พูดคุยและรับข้อเสนอ 6 ข้อจากประชาคมอุเทนถวาย จากประโดยหนึ่งในนั้น มีข้อกังวล ถึงการปิดรับนักศึกษา ปี 1 ซึ่งคุณศุภมาส ยืนยันว่า ยังเปิดรับอยู่ตามปกติ แต่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ตะวันออก จัดทำแผนระบบภายใน พร้อมขอให้ตั้งกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องขึ้นมาอีก 1 ชุด จาก 3 ฝ่ายในสัดส่วนเท่ากัน ในฐานะที่อว.เปรียบเป็นแม่ดูแลลูก ก็ให้เกิดความเรียบร้อย จึงอยากให้ยึดหลักกฎหมาย และมิติความสงบทางสังคมให้ขัดแย้งน้อยที่สุด



ต่อมา ทางกลุ่มได้เปิดแถลง ที่อว. และเมื่อประมาณ 11 โมงที่ผ่านมา มีกลุ่มนักศึกษาอุเทนถวายฯ ราว 10 คน เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมบอกว่า ที่มายื่นเพราะนักศึกษาเดือดร้อนจากการถูกสั่งย้าย และงดรับนักศึกษาปี 1 ขอให้แยกเป็นคนละประเด็นระหว่างนักศึกษาที่ก่อเหตุวิวาท กับบรรดานักศึกษาที่ตั้งใจเรียน และทำคุณงามความดีให้กับประเทศ วอนรัฐบาลเห็นคุณค่าของนักศึกษาช่าง



นายกฯ ชี้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย หลังศิษย์เก่าอุเทนถวายฯ นัดรวมตัวยื่นหนังสือ ค้านออกจากพื้นที่จุฬาฯ ย้ำพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย



นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มตัวแทนศิษย์เก่าอุเทนถวายฯ นัดรวมพล แสดงจุดยืนคัดค้านการออกจากพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ว่า ก็ต้องรับฟัง และได้มีการตั้งคณะกรรมการแล้ว โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.จะแถลงรายละเอียด ย้ำต้องรับฟังความคิดเห็น



ส่วนเรื่องนี้จะต้องเป็นไปตามศาลปกครองสั่งนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่การได้รับฟังความเห็นทุกฝ่าย ก็มีส่วนสำคัญ



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/vD6sNIUiIIk

คุณอาจสนใจ

Related News