เศรษฐกิจ

กสทช.ยังไร้ข้อสรุป ตรวจสอบเงื่อนไขควบทรู-ดีแทค เหตุข้อมูลที่ส่งมาไม่สามารถตรวจสอบได้

โดย nattachat_c

21 ธ.ค. 2566

268 views

วานนี้ (20 ธ.ค. 66) เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งที่ 23/2566 ซึ่งมีระเบียบวาระการประชุมหลายวาระ โดยบอร์ดการประชุมได้ทยอยเข้าไปภายในห้องประชุม ก่อนเริ่มประชุมให้สื่อมวลชนเข้าไปบึนทึกภาพและให้ออกมารอด้านนอกและตั้งลำโพงกระจายเสียงให้ร่วมรับฟังการประชุมในบางวาระเท่านั้น


วาระสำคัญปมร้อนที่ถูกจับตา คือ การควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) โดยคณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้เสนอให้บรรจุเรื่องการรวบรวมข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสถานการณ์ และผลกระทบต่อผู้บริโภค จากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และปัญหาอัตราค่าบริการสูง และการเปลี่ยนแปลง Package จากการให้บริการอัตโนมัติของทรูและดีแทค เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ด้วย หลังพบข้อร้องเรียนอื้อ ซึ่งวาระนี้ ไม่มีการเปิดกระจายเสียงออกลำโพง จึงทำให้สื่อมวลช นและคนที่อยู่นอกห้องประชุม ไม่สามารถรับฟังการประชุมได้


เวลา 17.30 น.การประชุมเสร็จสิ้น โดย ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ (สะ-ระ-นะ) บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่คณะอนุฯ ติดตาม และประเมินผลการรวมธุรกิจ ได้รับแจ้งจากทรูฯ ในเรื่องของค่าบริการ เพียงแต่ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ จึงได้มีการแจ้งให้ทางสำนักงานกสทช.ขอข้อมูล เพื่อส่งเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติม


“ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันว่าตัวเลขเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ ทางสำนักงานมีกระบวนการที่ต้องตรวจสอบ และต้องมีคณะที่ปรึกษามายืนยันว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง ทำให้ตอนนี้ยังไร้ข้อสรุปในเรื่องของการทำตามมาตรการควบรวมในเรื่องของการลดราคา จึงทำได้เพียงรับทราบข้อมูลดังกล่าว”


โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานกสทช.ได้แจ้งให้ทรู คอร์ปอเรชั่น นำส่งข้อมูลแพ็กเกจที่สามารถตรวจสอบได้มาเพิ่มเติมภายในสัปดาห์หน้า (28 ธ.ค. 66) หลังจากนั้น ถึงจะนำข้อมูลเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง


นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการ กสทช. วานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า คณะกรรมการ กสทช.ได้มีมติให้ออกประกาศ กสทช.เรื่องการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อยืนยันตัวตน ด้วยวิธีการตรวจพิสูจน์บุคคล (ไบโอเมตริกซ์) สำหรับผู้ถือครองเลขหมาย (ซิมการ์ด) โทรศัพท์จำนวน 6-100 เลขหมาย ต้องมายืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และผู้ถือครองเลขหมายจำนวน 101 เลขหมายขึ้นไปต้องมายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะทำหนังสือเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2-3 วัน และจะมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังมีการประกาศให้รับทราบทั่วกัน


“เมื่อมีการประกาศใช้ โดยในส่วนของผู้ให้บริการต้องมีการทำระบบเพื่อรองรับการยืนยันตัวตน และถ้าผู้ถือครองเลขหมายไม่มายืนยันตัวตน และมีการตรวจสอบพบว่ามีการเคลื่อนไหวของเลขหมายดังกล่าว อาจจะมีการตัดสัญญาณในการโทรออกและรับสาย สำหรับจำนวนเลขหมายที่ผู้ถือครองเกิน 101 เลขหมาย มีจำนวน 2.86 แสนกว่าคน”


นายไตรรัตน์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เรื่องการควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค สำนักงาน กสทช.ได้ให้ทรูส่งเอกสารภายหลังการควบรวมเพิ่มเติม หลังจากที่คณะอนุกรรมการติดตามผลการควบรวมกิจการฯ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วยังไม่สามารถยืนยันข้อเท็จได้ทั้งหมด จึงขอข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณาในการประชุมของบอร์ด กสทช.ในครั้งถัดไป


ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะส่งมาเพิ่มเติมนั้นคาดว่าสำนักงาน กสทช.จะได้รับเอกสารในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของ กสทช.ที่ให้บริษัททรูตั้งคณะที่ปรึกษาอิสระ เพื่อพิจารณาข้อมูลดังกล่าว ขณะนี้ทรูยังไม่มีที่ปรึกษาอิสระมาทำการตรวจสอบข้อมูลได้ เนื่องจากคณะอนุฯได้มีการแก้ไขเงื่อนไขสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) จึงทำให้การประกาศจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษาอิสระล่าช้าออกไป “ดังนั้น เมื่อไม่มีที่ปรึกษาอิสระจึงไม่มีคนกลางเข้ามาตรวจสอบรายงานที่ส่งเข้ามาได้ กสทช.จึงมีหน้าที่รับทราบข้อมูลดังกล่าว ขณะที่ที่ปรึกษาคาดว่าจะได้ในช่วงหลังปีใหม่”

-----------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/IzTcr1ilNzk





คุณอาจสนใจ

Related News