เศรษฐกิจ

บอร์ดค่าจ้างฯ ยืนตามมติเดิม ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท - 'สุริยะ' ผุดไอเดียขึ้นภาษีน้ำมัน จูงใจคนใช้รถไฟฟ้า

โดย petchpawee_k

21 ธ.ค. 2566

126 views

บอร์ดค่าจ้างฯ หักนายกฯ ยืนตามมติเดิม ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท เตรียมสังคายนาสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 6 ปี ขึ้นให้อีกที 2% เม.ย.ปีหน้า

วานนี้ (20 ธ.ค.) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 10/2566 ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยืนตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเดิมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2–16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยมีอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต คือวันละ370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา คือวันละ 330 บาท


เนื่องจากสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติเห็นชอบให้อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ จึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างด้วยความเหมาะสมและความเป็นจริงและการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น


ทั้งนี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในสัปดาห์หน้า หรือ วันที่ 26 ธันวาคม 2566 และให้มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับภาคแรงงาน


 ส่วนข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ตัดตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตรา เงินเฟ้อ ปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นช่วงโควิดแพร่ระบาดออกจากการสูตรคำนวณ เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ทางคณะกรรมการค่าจ้างจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงสูตรในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยเร็ว โดยจะสังคยานาสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ในรอบ 6 ปี


โดยจะนำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะแรงงานและรายอาชีพมาประกอบด้วย โดยกระทรวงจะตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสูตรอัตราค่าจ้างใหม่ ในวันที่ 17 มกราคม 2567 และจะเร่งประชุมคณะอนุกรรมการฯจังหวัด เพื่อหาข้อสรุปนำส่งอนุกรรมการกลางฯ ซึ่งคาดว่าจากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่องบวกกับเศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัว จะทำให้ปรับขึ้นค่าแรงด้วยสูตรการคำนวณใหม่นี้ได้ก่อนวันแรงงาน หรือราวเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น 2 รอบรวม 4% เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างปี 65


ขณะที่นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า พอใจตามมติที่มีเพราะเป็นมติที่เห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี ชอบด้วยกฎหมาย หากปรับเปลี่ยนคงไม่เหมาะสม ลูกจ้างอยากได้เพิ่ม แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา และพอใจกับการปรับเพิ่มในครั้งถัดไปซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบที่สุด และในวันที่ 17 มกราคม 2567 จะเป็นการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกรอบ เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสูตรใหม่นี้ โดยระดมนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาอาชีพมาโดยเฉพาะ ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย


อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนับร้อยสาขา ซึ่งถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว จะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 มีนาคม 2567 เพื่อให้หนีจากค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้จะไม่ส่งผลต่อตลาดแรงงานฝีมือ


ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้างมองว่า เหตุที่ต้องมาหารือกันใหม่นี้เป็นเพราะการเมืองแทรกแซง พร้อมเห็นด้วยที่จะปรับสูตรใหม่ และหากเศรษฐกิจในอนาคตเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ก็ควรจะปรับขึ้นค่าจ้างอีกครั้ง อีกทั้งที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้างได้เคยเสนอแนวคิดการปล่อยค่าจ้างลอยตัวแบบที่ภาครัฐควบคุมได้ รวมถึงพิจารณาตามทักษะและรายอาชีพแบบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในตลาดแรงงานในไทยปัจจุบันก็เป็นแบบกึ่งลอยตัวอยู่แล้วเพราะมีเกณฑ์ค่าจ้างตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งหากปล่อย ลอยตัวก็จะผลักดันให้เกิดมาตรฐานได้ทั้งระบบ

---------------------------

'สุริยะ' ผุดไอเดียขึ้นภาษีน้ำมัน กทม.-ปริมณฑล จูงใจประชาชนใช้รถไฟฟ้า 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ผ่านการพิจารณา กระทรวงฯ จะหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม วงเงินประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยมีแนวคิดว่าปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เบนซิน ในปั๊มน้ำมันในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมัน ที่จะสูงกว่าปกติประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น และเป็นการนำเงินจากภาษีดังกล่าวเข้ากองทุน เพื่อนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ต่อไป


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/12DxkbX_vS8

คุณอาจสนใจ

Related News