สังคม
ศธ.360 องศา 3 เดือน การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดีมีความสุข”
โดย nicharee_m
16 ธ.ค. 2566
115 views
กว่า 3 เดือน ที่กระทรวงศึกษาธิการเดินหน้านโยบาย เรียนดี มีความสุข หน่วยงานสถานศึกษาต่างๆ ได้ขับเคลื่อนแนวทางนี้อย่างไร ไปฟังมุมมองของครู นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษากัน
กว่า 3 เดือนของการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” จัดการศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ เพื่อความเป็นเลิศ และเพื่อความมั่นคงของชีวิตของผู้เรียน
โดยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา 4 ด้าน และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 6 ด้าน พร้อมเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติที่สำคัญคือ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต น้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ รักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ การลงพื้นที่ของผู้บริหาร ให้เรียบง่าย ประหยัด ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่ต้องมีของฝาก
อัษฎางค์ พงษ์เฉย ครูโรงเรียนเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ จ.สุโขทัย กล่าวว่า ในส่วนของการนำนโยบายเรียนดีมีความสุขไปใช้กับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจที่ผมคิดอยู่เสมอ คือทำยังไงได้ ให้เด็กมีเสียงหัวเราะกับกิจกรรมการเรียนการสอนของเราที่หลากหลาย คือไม่ได้แค่ว่าให้เด็กท่องจำหรือเขียนตามเราเท่านั้น แต่เราจะมีกิจกรรมอะไรที่เป็นการนำเอาประสบการณ์ นำเอาเทคนิค กลยุทธ์ต่างๆ เข้าไปให้เด็ก ให้เด็กเรียนแล้วสามารถคิดได้ วิเคราะห์ได้ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงของเขาได้
รตนชยธรลภณ วงศ์แก้วมูล ครูโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ซึ่งครูทุกคนบอกให้นิดเดียว นิดเดียวของครูแต่ละคน สิบคนก็หลายนิดอยู่ ดังนั้นวิชาที่ผมออกแบบคือ ไม่มีการบ้าน ทุกอย่างจะจบที่ในคลาสเรียนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นกิจกรรมกลุ่มทุกอย่าง หมดคลาสแล้วหมดคลาส จะไม่สร้างภาระผูกพันให้เด็กไปทำเองทีหลังตรงส่วนนี้ ลึกๆ แล้ว ตรงนี้แหละที่เรารู้สึกว่า อย่างน้อยก็บรรเทาความรู้สึกทางใจของเขา ดังนั้นให้เขารู้สึกว่าได้มีความสุขในการมาโรงเรียน
ไตรรัตน์ ปุยะติ ครูโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เผย เรามีโปรแกรมภาษา เรามีโปรแกรมสอนเต้น เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กในโรงเรียนของเราจะมีโอกาสเรียนสิ่งที่เขาต้องการ และได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น นอกเหนือจากหลักสูตร เราสร้างห้องเรียนเพื่อยกระดับการสอนให้ทันสมัย มีประโยชน์ มีความหมาย เพื่อให้เด็กบรรลุเป้าหมาย และเป็นผู้เรียนรู้ที่มีความสุข
ธฤตมน ซอมประโคน นักเรียนโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เผย จากการที่ได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หนูได้ประสบการณ์และทักษะต่างๆ หลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น หนึ่งหนูได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน หรือเพื่อนต่างระดับชั้น ได้รับรู้ถึงความคิดและความสามารถรวมถึงประสบการณ์ที่เพื่อนๆ มีแตกต่างกัน ได้นำมาระดมความคิดเพื่อจัดกิจกรรมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และสองทำให้หนูเป็นคนบริหารจัดการเวลาได้อย่างดีเยี่ยม เพราะหนูคิดว่า ถ้าเราเรียนได้ เราต้องทำกิจกรรมควบคู่กันไปได้เช่นเดียวกันค่ะ
เพชรเก้า กาญจนะวรรธนะ นักเรียน รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี การเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา anytime anywhere เพราะผมเชื่อว่า เด็กหลายๆ คน จะมีศักยภาพในหลายด้านไม่ใช่ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าเราสามารถจัดสรรเวลาในการเรียนรู้ของเราเอง ไปเรียนรู้ด้านเอง เช่น ด้านการแสดง วัฒนธรรม กีฬา ทำให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้นและเพิ่มโอกาสของเด็กคนนั้นด้วย
วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ เรียนดีมีความสุข ผมแปลได้คำเดียว คือเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย แปลว่าเรียนรู้แล้วใช้ได้ เอาสิ่งที่เป็นบริบท เอาสิ่งที่เป็นปัญหา สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เอาเข้ามาเรียน แล้วเรียนก็จะมีความหมาย พอมีความหมาย เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจ แล้วเอาไปใช้ได้จริง ก็คือ เรียนดี มีสุข แต่คำว่ามีสุขในการเรียนต้องมีองค์ประกอบอื่นด้วยนะ สัมพันธภาพระหว่างครูกับเด็ก สัมพันธภาพระหว่างครูกับสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศตรงนั้นด้วย
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เผย คุณครูต้องปรับตัวเยอะนะครับ เพราะว่าคุณครูชอบที่จะเล่าเรื่องให้ฟัง และที่ผ่านมา ก็คือเราคุ้นเคยกับระบบที่เราเลกเชอร์ให้นักเรียนได้เห็น แต่ ณ ปัจจุบัน เวลาที่เราจัดอยู่ เราขอแค่ 2 เรื่อง 1 คือเน้นในเวลาของการอภิปรายด้วยกัน และ 2 คือ การทำการทดลองเห็นของจริง เพื่อที่จะได้ซึมซับตรงนี้ไป ส่วนเวลาที่เรียนเลกเชอร์คือขอให้ดูคลิปออนไลน์ หรือนักเรียนศึกษาเอง แต่อย่างไรก็ตาม ครูยังอยู่ทุกที่ทุกเวลาที่นี่ ก็สามารถซัพพอร์ทได้เต็มที่
วัลลภ วิบูลย์กูล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 เผย สิ่งที่ผมคาดหวังว่า ภายใน 1 รอบปีงบประมาณ 6 เดือนแรก เราจะค้นหาโรงเรียนต้นแบบที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่เป็นความสำเร็จในแต่ละเรื่อง แต่ละด้าน เพื่อให้เขาได้มีการต่อยอด เป็นต้นแบบในกลุ่มเครือข่ายในอำเภอและในเขตพื้นที่ ให้โรงเรียนที่ยังไม่ได้เข้าใจหรือโดดเด่นในเรื่องนั้น ได้เข้าไปเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ผมนำเรียนเมื่อสักครู่ เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น
แท็กที่เกี่ยวข้อง ศธ.360 องศา ,เรียนดี มีความสุข