เลือกตั้งและการเมือง

ล้มเหลว-ล้าหลัง! ‘จาตุรนต์’ ชี้ การศึกษาไทย ไม่รีบแก้ไข เสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างหนัก

โดย petchpawee_k

9 ธ.ค. 2566

219 views

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า...


มีการสั่งการให้รร.ในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองไล่เลี่ยกับข่าวอันดับการวัดผล PISA ของไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี


ที่ผล PISA ซึ่งวัดผลเด็กอายุ 14-15 ปีออกมาแบบนี้ย่อมเป็นผลจากการจัดการศึกษาในช่วง 8-9 ปีมานี้อย่างไม่มีทางปฏิเสธได้ การใช้ระบบอำนาจนิยม ขาดการมีส่วนร่วมและขาดวิสัยทัศน์ รวมทั้งการออกคำสั่งประเภท นโยบาย 12 ข้อในรัฐบาลก่อนๆนี่แหละมีส่วนสำคัญทำให้การศึกษาไทยมาถึงจุดนี้


การสั่งการครั้งล่าสุดก็จะเป็นอีหรอบเดิมอีกนั่นแหละ



1.การเรียนการสอนในระบบการศึกษาของไทยตลอดมาไม่ได้ขาดวิชาประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีใครยกเลิกการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ถ้าจะมีปัญหาอาจจะอยู่ที่การยัดเยียดเนื้อหาของวิชานี้แบบไม่ถูกหลักวิชาการและไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ศึกษาประวัติศาสตร์จากนักคิดนักประวัติศาสตร์ที่หลากหลายและมักจะสอนให้เด็กได้แต่ท่องจำ ไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เสียมากกว่า


2.ผมไม่แน่ใจว่าวิชาหน้าที่พลเมืองถูกเปลี่ยนชื่อไปแล้วหรือไม่ แต่วิชาที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกับหน้าที่พลเมืองในสมัยก่อน ยังมีสอนอยู่แน่ เพียงแต่ว่าการสอนเกี่ยวกับค่านิยมทางสังคมที่ดีควรทำอย่างไร ประเทศที่เขาสร้างเด็กได้ดีๆเขาทำกันอย่างไร เราอาจจะยังศึกษาเรียนรู้จากเขาน้อยไป พอมาสั่งให้ใช้วิชาที่สอนเมื่อ 50-60 ปีก่อนก็จะมีปัญหาว่าเนื้อหาที่เหมาะสมทันสมัยคืออะไรและใครควรเป็นคนกำหนดกันแน่


3.เรามักได้ยินการเสนอความเห็นหรือการสั่งการจากผู้มีอำนาจว่าให้เอาเนื้อหาอย่างนั้นอย่างนี้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรให้เด็กเรียนโดยไม่ค่อยได้คิดกันว่าการทำหลักสูตรควรทำกันอย่างไร ควรให้รัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการจริงหรือ การทำหลักสูตรในประเทศที่เขาจัดการศึกษาได้ดี มักมีองค์กรรับผิดชอบ มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำจริงจัง มีงานศึกษาวิจัยรองรับและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบถูกหลักวิชาการ ไม่ใชเกิดจากการตัดสินใจทางการเมืองแบบชั่วครั้งชั่วคราว


4.การกำหนดหลักสูตรกลางสำหรับโรงเรียนทั้งหลายไม่ว่าโรงเรียนนั้นสังกัดหน่อยงานใดนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งควรมีระบบที่ดีดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่โรงเรียนอยู่กับองค์กรสังกัดกระทรวงใดก็ให้กระทรวงนั้นกำหนดนโยบายเกี่ยวกับหลักสูตรกับตามอำเภอใจ ส่วนการบริหารจัดการ การสนับสนุนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นก็ควรอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารองค์ปกครองท้องถิ่นที่พึงมีอิสระในการทำงานตามหลักการกระจายอำนาจไม่ใช่ต้องอยู่ใต้อาณัติคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย


การศึกษาไทยล้มเหลว ล้าหลังมากอยู่แล้ว ถ้าไม่รีบแก้ไขปรับปรุงจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมอีกมาก และถ้ายังสั่งการกันอย่างสะเปะสะปะ ผิดฝาผิดตัวแบบนี้ ก็มีแต่จะแย่ลงไปเรื่อยๆครับ



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/DbaNMEOPIF8

แท็กที่เกี่ยวข้อง  จาตุรนต์ฉายแสง ,การศึกษาไทย

คุณอาจสนใจ

Related News