สังคม

กรมอุทยาน เร่งจัดระเบียบ ‘อีกัวนา’ เจออุปสรรค ชาวบ้านกราบไหว้บูชา เตือนระวังเชื้อโรค สัมผัสแล้วท้องเสีย

โดย petchpawee_k

16 พ.ย. 2566

115 views

อุทยานออกแถลงการณ์แก้ปัญหา "อีกัวน่าเขียว" แพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ชี้อีกัวน่าเขียวมีเชื้อซาลโมเนลลา สัมผัสแล้วท้องเสีย เร่งดักจับตรวจหาเชื้อ  หากพบใครปล่อยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน  


เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.66) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกแถลงการณ์ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวน่าเขียว สัตว์ต่างถิ่น โดยระบุว่า อีกัวนาเขียวเป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ลำดับที่ 690 อีกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565  


อิกัวนาเขียวมักพบเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง และทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือน อาจปนเปื้อนมากับอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียน ท้องเสียได้ โดยทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เข้าพื้นที่ตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่าง เพื่อไปตรวจสอบว่าอิกัวน่าเขียวบริเวณดังกล่าว จะพบเชื้อซาลโมเนลลาหรือไม่


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอแจ้งแนวทางสำหรับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวน่าเขียว ดังนี้


1. หากมีการพบเห็นอิกัวนาเขียว ให้โทร แจ้งทางสายด่วนหมายเลข 1362

2. ผู้ที่ครอบครองอีกัวนาเขียว ให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่


สำหรับผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย โดยไม่ปล่อยให้สัตว์ที่อยู่ในครอบครองเป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตและหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับไปดูแล


ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึงกรณีประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องการแพร่เชื้อโรค ว่า ทางสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่าอิกัวน่าเขียวและสัตว์กลุ่มกิ้งก่า มักพบเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสและทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือนอาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการ อาเจียน ท้องเสียได้


ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้เข้าพื้นที่ทำหาเชื้อโดยการเก็บตัวอย่างเพื่อไปตรวจสอบว่าอิกัวนาเขียวบริเวณดังกล่าวว่าจะพบเชื้อดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลภายใน 3 วัน คือ วันที่ 16-17 พ.ย.นี้


นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการดำเนินการจากนี้ ต้องมีการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งครอบครองเพิ่มเติม ต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์และขออนุญาตค้า เพื่อสะดวกในการควบคุมจัดทำการขึ้นทะเบียนผู้มีไว้ในครอบครอง และไม่อนุญาตให้เพาะและค้ารายใหม่เพิ่มเติม รวมถึงมีมาตรการประกาศห้ามนำเข้าอิกัวนาเขียวเข้ามาภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดประชุมร่วมกับเครือข่าย สมาคม ชมรมผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ต่างประเทศหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในการจับและนำออกจากพื้นที่ร่วมกับชุมชน และกำหนดทิศทางการดำเนินกับอิกัวน่า


“ในรัฐฟลอริดา คณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้การสนับสนุนให้กำจัดได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอิกัวนาที่ปรากฏตามที่สาธารณะโดยไม่ต้องขออนุญาต ในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของอิกัวนา มีการแปรรูปเป็นอาหาร จัดทำเมนูเด็ด และมีราคาแพง เช่น ที่ประเทศกายอานา ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 2,400 บาท” นายอรรถพล กล่าว


นายอรรถพล ย้ำว่า อยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศให้มีความรับผิดชอบปฏิบัติข้อกฎหมายไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตและหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานฯ ซึ่งมีระเบียบดำเนินการในส่วนนี้แล้ว


สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของการแพร่พันธุ์อิกัวน่าเขียว มีการพบเห็นอิกัวนาเขียว ใน 2 พื้นที่ คือ

1.บริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พื้นที่ตามที่เป็นข่าว ไม่สามารถประเมินประชากรได้

2.บริเวณพื้นที่วัดป่าคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ประเมินประชากรมากกว่า 10 ตัว ยังไม่มีการสำรวจในการประเมินประชากร แต่พบว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีประเด็นของความเชื่อ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่วัดประชาชนไปกราบไหว้บูชา อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อมูลการนำเข้าประเทศไทยมีประวัติการนำเข้าตั้งแต่ปี 2533 – 2565 จำนวนทั้งสิ้น 11,622 ตัว


ส่วนผลกระทบในเรื่องการแพร่พันธุ์ของอิกัวน่านั้น จะส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศท้องถิ่น ถ้าหากอิกัวน่าเขียวสามารถปรับตัวและตั้งประชากรได้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น เช่น สัตว์เลื้อยคลานตระกูลกิ้งก่า นอกจากอิกัวน่าเขียวจะกินพืชแล้ว ยังกินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ผีเสื้อ และหอยทาก ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจท้องถิ่น อิกัวน่าเขียวกินพืชใบอ่อน ผักและผลไม้เป็นอาหาร หากประชากรมีจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อพืชผลของเกษตรกร



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/-yYl0sVhxLo



คุณอาจสนใจ

Related News