สังคม

'เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ' แถลงไม่เอา 'แลนด์บริดจ์' ร้องนายกฯ หยุดโรดโชว์-นักวิชาการ เชื่อไม่คุ้มค่าลงทุน

โดย parichat_p

15 พ.ย. 2566

91 views

ความเคลื่อนไหวของ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ภาคประชาชนจังหวัดชุมพรระนอง และสภาประชาชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ไม่เอาแลนด์บริดจ์ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีหยุดโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุน ทั้งๆที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่เวทีชำแหละโครงการแลนด์บริดจ์ นักวิชาการ เชื่อมั่นว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน ไม่ตอบโจทย์การขนส่งทางเรือ สวนทางความต้องการในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางการเกษตรและมีฐานทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง และเชื่อว่าเป้าหมายของโครงการแลนด์บริดจ์คือการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภาคใต้ ที่อาจเกิดความล้มเหลวในที่สุด


เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง และสภาประชาชนภาคใต้ ร่วมกันขึ้นป้าย No-Landbridge ไม่เอาแลนด์บริดจ์ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำหลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร หลังอ่านแถลงการณ์ประกาศจะคัดค้านโครงการนี้จนกว่ารัฐบาลจะหยุดโครงการแลนดบริดจ์ เนื่องจากหลายเหตุผลที่โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ควรจะเกิดขึ้น


จากเวทีชำแหละโครงการแลนด์บริดจ์ ผศ.ประสาท มีแต้ม ย้อนประวัติศาสตร์โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทยอันดามัน อาจมีมาตั้งแต่ยุคพระนารายณ์ จนถึงปี 2515 ที่เริ่มศึกษาโครงการคอคอดกระ แต่มาถึงวันนี้ทำไม่สำเร็จ เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก แม้จะกำหนดในแผนประเทศไทยปี 2600 แต่เชื่อว่าต้องล้มเลิกไปอีกในที่สุด หากคิดจะทำโครงการแลนด์บริดจ์ ทำไมไม่ไปทำถนนสายขนอมกระบี่ ที่ใช้งบประมาณกว่า 3,500 ล้านบาทแต่ยังไม่เสร็จ


ขณะที่ดร.อาภา หวังเกียรติ มองพัฒนาการโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่น่าจะทำเพื่อเชื่อมการขนส่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีเป้าหมายเพื่อขยายอุตสากรรมปิโตรเคมีในภาคใต้ และรัฐบาลไม่ได้บิกประชาชนว่านอกจากการสร้างท่าเรือ 2 ฝั่งเนื้อที่ในทะเลฝั่งละกว่า 6,000 ไร่ยังมีการสร้างนิคมอุตสหากรรมอีกกว่า 60.000 ไร่ ถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลจะใช้กฏหมาย SEC ที่เป็นเหมือนทางด่วนที่ให้ต่างชาติเข้ามาช็อปปิ้งได้ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ด้วย


นางสาววิภาวดี พันธุ์ยางน้อย ซึ่งศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดเผยว่า ความไม่สำเร็จโครงการที่ผ่านมา รวมถึงโครงการเซาท์เทรินซีบอร์ดจากสตูลมายังสงลา ทำให้เปลี่ยนเส้นทางมายังระนองและชุมนุม ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทำการศึกษาก็อยู่ในช่วงโควิด-19 ทำให้กระบวนการขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีข้อมูลรอบด้าน เช่นที่ตั้งท่าเรือระนอง ในแผน สนข.ไม่ได้รับฟังความเห็นจากชุมชนโดยรอบอ่าวอ่างที่จะได้รับผลกระทบด้วย และไม่ได้บอกความจริงเรื่องมีบ่อน้ำมันในโครงการด้วยหรือไม่


ขณะที่นายสมโชค ตัวแทนชาวพะโต๊ะ มองว่าโครงการนี้มีขึ้นเพื่อมาขับไล่ประชาชน โดยไม่มองผลกระทบทางด้านฐานทรัพยกร หรือมองว่าประชาชนจะไปอยู่ที่ไหน หากต้องใช้พื้นที่กว่า 9 หมื่นไร่ทำโครงการทั้งหมดรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตทั้งๆที่จังหวัดชุพร โดยเฉพาะอำเภอพะโต๊ะ ประชาชนมีรายได้จากสวนทุเรียน ปีละเกือบ 4 พันล้านบาท


นายสมบูรณ์ คำแหง และ นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ที่เคยคัดค้านโครงการเซาท์เทริ์นซีบอร์ด สตูล-สงขลา ถอดบทเรียนถึงชาวชุมพร-ระนองต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อแสดงให้เห็นว่า โครงการนี้ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาในพื้นที่ เงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เทียบไม่ได้กับการสูญเสียทรัพยากร ที่ยังไม่ตอบด้วยว่าจะนำดินที่ไหนมาขุดทะเล จะใช้แหล่งน้ำใดในภาคอุตสาหกรรม และจะมีที่ดินที่ไหนให้ประชาชที่ต้องถูกเวนคืนไปทำมาหากิน


ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาเส้นทางแลนด์บริดจ์จะประหยัดเวลาจากช่องแคบมะละกา เพียง 8-16 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่ 4 วัน หรือถ้าหากประหยัดเวลาได้เพียงเท่านี้ ก็เชื่อว่าบริษัทเดินเรือไม่จำเป็นต้องมาใช้เส้นทางนี้ เพราะอาจต้องเสียต้นทุนเพิ่มในการนำตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถไฟไปยังท่าเรือีกฝั่งหนึ่ง


นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ในฐานะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ ยืนยันด้วยว่าข้อมูลที่ สนข.และการรถไฟชี้แจงกรรมาธิการ ไม่ตรงกับที่ชี้แจงประชาชน และยังไม่มีผลการศึกษาว่าจะคุ้มทุนจริงหรือไม่


เวทีชำแหละแลนด์บริดจ์ จึงยังมองไม่เห็นความคุ้มค่าที่จะได้รับจากโครงการนี้ และอาจจะสูญเสียทั้งงบประมาณ เวลาและความเชื่อมั่นกับต่างชาติ ที่รัฐบาลอาจจะอ้างกฏหมายมรดก คสช.ทำการโรดโชว์ขายของก่อนที่โครงการจะผ่านการศึกษาและความเห็นชอบจากประชาชน

คุณอาจสนใจ

Related News