ข่าวโซเชียล

ตำรวจแจงกรณีโซเชียลแชร์อุบัติเหตุรถแท็กซี่พ่อถูกสิบล้อชนท้ายดับพร้อมผู้โดยสาร แต่จนท.ชี้มีความผิดร่วม

โดย kanyapak_w

2 พ.ย. 2566

2.1K views

สืบเนื่องจากกรณีตามที่ปรากฏในสื่อโซเชียลกรณีกรณีอุบัติเหตุในพื้นที่สภ. โพหัก ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น หลังเพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6 โพสต์คลิปเตือนภัยอุบัติเหตุ และตั้งข้อสังเกตว่า รถใหญ่ขับเร็วไปหรือไม่ โดยคลิปดังกล่าวผู้ใช้ TikTok@chisanuphong2532 เป็นคนนำมาเผยแพร่ เป็นภาพเหตุการณ์ขณะที่แท็กซี่เขียวเหลืองคันหนึ่ง ชะลอบริเวณทางแยก คล้ายกับจะรอจังหวัดเลี้ยวขวาเข้าซอย



จังหวะนั้น รถบรรทุกตู้เทรลเลอร์ที่วิ่งตามหลังมาด้วยความเร็ว ก็พุ่งชนท้ายรถแท็กซี่อย่างแรง จนรถแท็กซี่ไปชนกับรถกระบะอีกคันที่วิ่งในเลนสวนมา เหตุการณ์นี้ทำให้คนขับแท็กซี่และผู้โดยสารเสียชีวิต ในคลิปดังกล่าวมีการใส่แคปชั่นว่า



“กรณีนี้ ทำไมทางเจ้าหน้าที่ให้พ่อหนูผิดร่วม พ่อหนูเป็นแท็กซี่ ดูจากคลิป ช่วยหนูหน่อย หนูต้องร่วมรับผิดไหม พ่อหนูเสียชีวิตกับผู้โดยสาร”



โดยคลิปนี้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย  ส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า ทำไมรถบรรทุกถึงขับเร็วขนาดนั้น ทั้งที่เป็นเลนสวนและมีชุมชนอยู่ใกล้ๆ



นอกจากนี้ จุดเกิดเหตุยังเป็นทางแยก ซึ่งควรจะต้องชะลอความเร็ว  ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้เจ้าหน้าที่มีความผิด มาตรา 157 หรือไม่ และรถบรรทุกมีสติ๊กเกอร์หรือไม่



ล่าสุด วันนี้ (2 พ.ย.) สภ.โพหักชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้น พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้พิจารณาแล้วในชั้นสอบสวนเป็นความประมาทของรถบรรทุกหัวลาก เทรลเลอร์ฝ่ายเดียว มิได้เกิดจากความประมาทของฝ่ายแท็กซี่ร่วมด้วย โดยได้มีการบันทึกผลการพิจารณาฝ่ายประมาทของพนักงานสอบสวน ไว้เป็นหลักฐานชัดเจน



จากนั้น พ.ต.อ.สายฟ้า จิราวรรธนสกุล รอง ผบก.ภ.จว.ราชบุรี พ.ต.อ.ปริญญา ใคร่ครวญ ผกก.สภ.โพหัก พ.ต.ท. ศรัณย์ แก้วเรือง รอง ผกก.สอบสวน สภ.โพหัก พร้อมพนักงานสอบสวน ได้เชิญ ภรรยาผู้เสียชีวิต(คนขับแท๊กซี่) มาพูดคุยสอบถามข้อเท็จจริง ที่ สภ.โพหัก ได้ความว่า



ทางฝ่ายญาติผู้ตายไม่มีผู้ใดนำข้อมูลทางคดีไปลงโซเชียลมีเดีย ได้รับความยุติธรรมและไม่ติดใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยเชื่อว่าน่าจะมีบุคคลที่ 3 เอาคลิปการเกิดเหตุไปลงโซเชียล



อย่างไรก็ตาม ขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์มีความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท






คุณอาจสนใจ

Related News