เศรษฐกิจ

ที่ปรึกษานายกฯ ชี้ 'แจกเงินดิจิทัล' จ่อได้ใช้ ก.ย.67 ผ่านแอปฯ เป๋าตัง

โดย nattachat_c

31 ต.ค. 2566

34 views

วานนี้ (30 ต.ค. 66) ที่รัฐสภา นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ 'นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท : เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ'


ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา


โดยนายศุภชัย กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็น 1 ในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภา มีเป้าหมายแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อเอื้อต่อการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ ภายใต้งบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท


ขณะเดียวกัน ก็มีหลายฝ่าย เช่น คณาจารย์ และนักวิชาการ ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิก เนื่องจากมองว่าได้ประโยชน์น้อยไม่คุ้มกับต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานการจ่ายเงินระยะสั้น ไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง


ดังนั้น สว.ในฐานะสถาบันการเมืองที่มีความเป็นกลาง จึงได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อระดมข้อเสนอจัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล

-------------

นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้มีหลายอย่างที่จะมีการปรับเปลี่ยน เช่น ...


1. การให้สิทธิประชาชน 56 ล้านคน เพราะหลายฝ่ายเห็นว่า ไม่ควรแจกคนรวย


เพราะการให้เงินคนรวย ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากคนรวยจะเอาเงินในส่วนนี้ทดแทนค่าใช้จ่าย และเก็บเงินของตัวเองไว้แทน


แต่ถ้าให้คนที่พอมี จะสามารถนำไปใช้หนี้ ดังนั้น ตัวเลขประชาชนที่ได้สิทธิจะเหลือ 40 กว่าล้านคน ซึ่งยังไม่รวมผู้ที่ไม่มาลงทะเบียนอีก เชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะใช้เงินจากงบประมาณ แต่คงไม่ถึง 500,000 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติจากสภา


2. งบประมาณดังกล่าวจะมีความล่าช้า


คือ ไม่น่าจะทันในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะสามารถใช้ได้ในช่วงเดือนกันยายนแทน ขณะเดียวกัน น่าจะมีเร่งดำเนินการงบประมาณปี 2568 ไปด้วย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน


3. เงื่อนไขที่จะใช้เงินได้ในระยะ 4 กม. นั้นคงไม่มีแล้ว


แต่จะให้อยู่ในอำเภอ หรือเขตเดียวกัน เพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง

-------------

นายพิชัย ได้กล่าวว่า “วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งข้างบน ข้างล่าง ตรงกลาง กรอบหมดแล้ว ไม่สามารถจะกู้เพิ่ม รายได้ก็ไม่มี


เพราะฉะนั้น โครงการนี้จึงจำเป็น เพราะกระตุ้นความเชื่อมั่น ความคึกคัก แต่โครงการนี้ก็จะต้องควบคู่ไปกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการทางเศรษฐกิจที่ต้องทำให้มองเห็น เป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องทำให้สอดคล้องกันให้ได้” 


นายพิชัย ยังย้ำว่า จำเป็นต้องแจกเงินเป็นเงินดิจิทัล เพื่อบังคับให้มีการใช้จ่าย ส่วนคนที่จะมาขึ้นเงินก็ต้องลงทะเบียน และเสียภาษีด้วย


ทั้งนี้ การแจกเงินอาจจะได้ไม่พร้อมกัน และอาจจะได้ใช้เงินในช่วงที่มีวันหยุด เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และเชื่อว่า 90% น่าจะกลับไปใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เนื่องจากมองว่า การพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานาน และยุ่งยาก

-------------

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า


เศรษฐกิจที่ต้องมีกระตุ้น และแก้ไข แต่ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้ตอบโจทย์ ต่อให้เป็นการใช้จ่ายในระดับหมู่บ้านก็ตาม และเป็นไปได้ยากที่โครงการนี้จะยั่งยืน


สิ่งที่อยากเห็นคือ นำเงินส่วนนี้ไปช่วยในกำลังผลิต เช่น แหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ทุกหมู่บ้าน ทั้งที่ไปศึกษาเรื่องดังกล่าวจากการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ยูเอ็น ซึ่งเป็นหนึ่งที่ 17 ข้อ ของ SDG ที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่กลับไม่นำเรื่องดังกล่าวมาขับเคลื่อนเลย นี่คือวิธีคิดวิธีทำงานที่ต้องเพิ่มศักยภาพ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่ใช่หวังให้คนใช้จ่ายแล้วเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างยั่งยืน


อีกทั้ง ขณะนี้ รัฐบาลกำลังจะทำผิดกฎหมายหลายอย่าง พร้อมขอให้ฟังสำนักงบประมาณในการของบฯ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขาดดุล  และผิดวินัยการเงินการคลัง

-------------

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริลลินช์ภัทร จำกัด มองว่า


ปัจจุบันมีแต่การถกเถียงเรื่องแหล่งเงิน แทนที่จะให้หน่วยงานราชการช่วยกันนำไปคิด แต่เชื่อว่า ประชาชนน่าจะบริหารจัดการการใช้จ่ายภายในครอบครัวตัวเองได้ หากนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาล ทั้งเรื่องซอร์ฟพาวเวอร์ และเรื่องการท่องเที่ยว เอื้อไปด้วยกัน จะทำให้ภาคประชาชนเกิดความมั่นใจว่า ที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว

-------------
วานนี้ (30 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ เดลินิวส์ เกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท ว่า 


นายเศรษฐา กล่าวว่า มีที่มาของเงินแน่นอน กรอบการใช้เงิน 6 เดือน อีก 1-2 เดือน จะแถลงให้ทราบถึงรายละเอียด ส่วนที่ยากที่สุดคือ การนิยามของ 'คนจน' และ 'คนรวย' และยอมรับว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องของเกมการเมือง และเร็ว ๆ นี้ จะหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ แต่ยืนยันว่านโยบายนี้ต้องทำ เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแกร่ง จึงต้องเติมเงินเข้าไป 
-------------
วานนี้ (30 ต.ค. 66) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า


ปรากฏการณ์นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาทให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนที่พรรคเพื่อไทยจัดอีเวนต์ปราศรัยหาเสียงไว้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 6-7 เดือนก่อน จนถึงขณะนี้เป็นแกนนำรัฐบาลมาแล้วกว่า 2 เดือน ก็ยังไม่สามารถเริ่มลงมือทำตามที่หาเสียงไว้ได้


เพราะติดขัดตรงที่ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาแจกให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป 56 ล้านคน ซึ่งใช้เงินสูงถึง 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท


ทั้ง ๆ ที่ ทันทีที่ประกาศหาเสียง ควรจะรู้แล้วว่าถ้าทำนโยบายนี้จะเอาเงินจากแหล่งไหนมาแจก แสดงว่าคิดนโยบายนี้ออกมาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงแล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้า เป็นการทำนโยบายที่ไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอ


มาถึงขณะนี้จึงคิดจะไปเอาเงินจากธนาคารออมสิน ก็ติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ทำไม่ได้ จะกู้เงินมาแจก หรือออก พ.ร.ก.เงินกู้ ช่วงปิดสมัยประชุมสภา ก็ไม่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเพียงพอที่จะทำได้ ตอนนี้ก็เลยคิดจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ปี 2567 ก็มีเงินตัดจากโครงการอื่นๆ มาได้แค่ 1 แสนล้านบาท ก็ยังไม่พออาจต้องทำงบผูกพันอีกหลายปี สุดท้ายก็คิดจะลดจำนวนคนได้รับแจก 10,000 บาทลงมา


นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จึงอยู่ในสภาพวัวพันหลัก ชักเข้าชักออก แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเอาเงินมาจากแหล่งใด


นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จึงควรเร่งทำความจริงให้ปรากฎ ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาแจก ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้

-------------




รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Uy385r09IqY

คุณอาจสนใจ

Related News