สังคม

'ก้าวไกล' เตือนใช้เหตุผลแจงปม 'เงินดิจิทัล' - 'ปชป.' หนุน 'ป.ป.ช.-สตง.' ตรวจสอบนโยบายเงินดิจิทัล

โดย parichat_p

15 ต.ค. 2566

41 views

ความเคลื่อนไหวเรื่องนโบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลวันนี้มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งมีความกังวลใจต่อนโยบายนี้ แต่ก็เห็นว่า ควรเดินหน้าแจกเงินต่อไป


'นิด้าโพล' รายงานผลสำรวจความเห็นประชาชนในหัวข้อ "การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?"


คำถามแรก ถามเรื่องความกังวลของประชาชนต่อนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ว่าอาจจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศ เช่น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตามคำเตือนของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.92 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล และ ร้อยละ 25.27 ระบุว่า กังวลมาก ซึ่งถ้ารวม 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันก็จะมี 56.19 เปอร์เซ็นต์


ส่วน ร้อยละ 28.47 ระบุว่า ไม่กังวลเลย / และร้อยละ 15.19 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล / รวม 2 กลุ่มนี้ก็จะได้ 43.66 เปอร์เซ็นต์


เมื่อถามความคิดเห็นต่อการดำเนินนโยบายนี้ พบว่า ร้อยละ 47.10 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อ แต่ควรมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รองลงมา ร้อยละ 32.52 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อตามที่ได้หาเสียงไว้ มีเพียงร้อยละ 18.85 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว


ส่วนการรับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ของประชาชน พบว่า ร้อยละ 79.85 ระบุว่า รับเงินและนำไปใช้จ่าย / ร้อยละ 13.51 ระบุว่า ไม่รับเงิน / และร้อยละ 5.42 ระบุว่า รับเงิน แต่ไม่นำไปใช้จ่าย


ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย หากรัฐบาลยกเลิกนโยบายนี้ พบว่า ร้อยละ 60 มองว่า จะส่งผลกระทบให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยลดลง / ขณะที่ ร้อยละ 29.92 มองว่า ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย / และร้อยละ 6.49 มองว่า จะทำให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น


นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พูดถึงกรณีที่ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาอ้อนประชาชนให้เชียร์นโยบายการแจกดิจิทัล 1 หมื่นบาท และอย่ายอมคนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ว่านโยบายนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารงบประมาณแผ่นดิน ก็ต้องฟังเสียงรอบด้าน


ทั้งนี้มองว่า "นัยยะการสื่อสารให้คนที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้แสดงออกมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นผลดีเลย จะยิ่งเป็นการแบ่งแยกคนที่เห็นด้วยและคนที่คัดค้าน"


จึงคิดว่า "ควรชี้แจงคนที่ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลที่ได้คิดโครงการไว้แล้ว รวมทั้งที่มาของเงินว่าเป็นอย่างไร น่าจะเป็นผลดีมากกว่าปลุกมวลชนแบ่งข้าง"


นายณัฐชา มองว่า นโยบายนี้เป็นจุดตายของรัฐบาลคือหากทำได้ดีก็สามารถอยู่ต่อได้ในระยะยาว แต่หากทำไม่ดี ไม่ชัดเจน รัฐบาลก็อาจจะมีอายุสั้นลงก็ได้


ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าถือเป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรี ที่พยายามออกมาชี้นำประชาชน ถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัล แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ทำ คือ "การอธิบายด้วยเหตุด้วยผล และความไม่ชัดเจน ทั้งที่มางบประมาณที่ใช้ ขั้นตอนวิธีการ และ จะได้ความคุ้มค่ามากน้อยขนาดไหน"


พร้อมสนับสนุน ทั้งคณะกรรมการป.ป.ช. และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ได้ตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบนโยบายนี้ และขอย้ำว่าทุกการกระทำของรัฐบาล จะมีผลต่ออนาคต


ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า "อยากให้ผู้ที่คิดต่างเปิดใจทำความเข้าใจ ถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายนี้ เชื่อมั่นว่าประชาชนที่ไม่มีเงินทุนในการตั้งตัวสร้างเป็นอาชีพได้" และย้ำว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล นอกจากสร้างโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ประชาชนเป็นกลไกหลักในการใช้จ่าย ยังเพิ่มโอกาสเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของครัวเรือนและของประเทศ


ส่วน ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พูดถึงนัยยะที่นายกฯขอให้ประชาชนเชียร์นโยบายเงินดิจิทัล ว่า "อยากฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และนัยยะ คือ เป็นนโยบายที่ตอบสนองสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่ได้เป็นการดรามาเพื่อดึงมวลชน" และ "เงินเหล่านี้จะช่วยต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่เป็นคนรากหญ้า เปรียบเหมือนคนกำลังจมน้ำ รัฐบาลก็ต้องโยนห่วงยางหรือชูชีพให้ เพื่อช่วยชีวิต"

คุณอาจสนใจ

Related News