สังคม

พาชม 'เมืองโบราณศรีเทพ' เส้นทางวัฒนธรรม หลังเป็นมรดกโลก คนแห่เที่ยวแตะหมื่น/วัน

โดย panwilai_c

7 ต.ค. 2566

291 views

ภายหลังจากที่เมืองโบราณศรีเทพจังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปเที่ยวถึงหลักพันคนต่อวัน และสูงถึง 1 หมื่นคนในช่วงวันหยุด



เพื่อไม่ให้เป็นการพลาดจุดไฮไลต์สำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ วันนี้ข่าว 3 มิติ จะพาทุกท่านไปรู้จักกับข้อมูลและจุดน่าสนใจก่อนเข้าชมที่เมืองมรดกโลกแห่งนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 หรือ กว่า 2500 ปีที่แล้ว



เมืองโบราณศรีเทพ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ กลายเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของประเทศไทย ทันทีที่ยูเนสโกประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยบนพื้นที่ 2,889 ไร่ ของเมืองโบราณแห่งนี้ แบ่งเป็นพื้นที่ 2 จุดหลัก คือ เขาคลังนอก เขาคลังใน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความรุ่งเรืองของเมืองศรีเทพในวัฒนธรรมยุคทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ถึง ศตวรรษที่ 15 ได้เป็นอย่างดี



พื้นที่เขาคลังนอกตั้งอยู่บริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพทางทิศเหนือ นับเป็นพุทธศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14



เขาคลังนอกมีลักษณะเป็นมหาสถูป ด้วยฐานอาคารขนาดใหญ่ก่อด้วยศาลาแลง ซ้อนกัน 2 ชั้น ตกแต่งด้วยรูปอาคารจำลอง ส่วนองค์เจดีย์ประธานทรุดโทรมจนพังไปตามกาลเวลา เดิมคาดว่ามีรูปทรงแบบบาตรคว่ำพบโบราณวัตถุมากมายในบริเวณนี้



ส่วนพื้นที่ไฮไลท์คงหนีไม่พ้น เขาคลังใน เพราะตรงจุดนี้เต็มไปด้วยโบราณสถานที่สำคัญหลายจุด โดยคาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างเมือง และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถาปัตยกรรมเรื่อยมาตามความเชื่อ ทั้งพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน ซึ่งมาจากอินเดีย ขอม และทวารวดี สถาปัตยกรรมเด่นๆ ของจุดนี้ คือ ปรางค์ศรีเทพ ที่สร้างจากการก่ออิฐ ควบคู่กับอาคารบรรณาลัย 2 หลัง และ อีกจุดคือ ปรางค์ 2 พี่น้อง มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์



นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ระบุว่า ศิลปะของเมืองศรีเทพเป็นศิลปะร่วมรุ่นในสมัยทวารวดี ในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีตัวอักษรใช้ ซึ่งคาดว่าเมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี ปรากฎหลักฐานเป็นวัฒนธรรมและความเชื่อ ผ่านงานศิลปะ รูปปั้น และสถาปัตยกรรม ที่รับความเชื่อจากศาสนาพราหม์ฮินดู และ พุทธเข้าไว้ด้วยกัน



แนวโบราณสถานทั้งส่วนเขาคลังนอกและเขาคลังใน ต่างสร้างเรียงตัวตามแนวโดย



หันหน้าเข้าหาพื้นที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่โบราณสถานอีกแห่งที่ห่างออกไป ตามหลักความเชื่อว่าเป็นภูเขาศักสิทธิ์



ที่นี่ดัดแปลงจากถ้ำธรรมชาติให้เป็นศาสนสถานมีประติมากรรมพรุพุทธรูปและพระโพธิสัตว์นิกายมหายาน กำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ในสมัยทวารวดีเช่นกัน



และยังปรากฎหลักฐานการมีอยู่ของชุมชนตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองจนกระทั่งละทิ้งถิ่นฐานไป



เมื่อเมืองโบราณศรีเทพกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีผู้มาเยือนจากเดิมที่วันละไม่ถึง 1 พันคนเป็นมากกว่า 6 พันคนต่อวัน และ หลักหมื่นคนในวันหยุด สินค้าที่นี่ก็ปรับตัวให้เข้ากับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ไอติมโบราณ หรือ ไอติมคนแคระแห่งเมืองศรีเทพ กลายเป็นอีกหนึ่งรายการเช็คอินที่ห้ามพลาดของผู้มาเยือนที่หากไม่ได้ลองชิมก็เหมือนมาไม่ถึง



กรมศิลปากรจึงได้ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดเพชรบูรณ์วางแนวทางจัดการพื้นที่ใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับการเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมตามเงื่อนไขที่ยูเนสโกกำหนด และ เพื่อการดูแลอนุรักษ์โบราณสถานอย่างยั่งยืน



ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย เมืองโบราณสถานศรีเทพก็เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8โมงครึ่งถึง 4 โมงครึ่ง โดยในเร็วๆ นี้ กรมศิลปากรเตรียมสร้างเส้นทางแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมทวาราวดี ที่ยังมีอีกหลายแห่งในประเทศไทย

คุณอาจสนใจ

Related News