อาชญากรรม

สหวิชาชีพเข้าสอบปากคำเด็ก 14 ขณะ ตร.แจ้ง 5 ข้อหา จ่อดำเนินคดีผู้ปกครองด้วย

โดย chutikan_o

4 ต.ค. 2566

1.3K views

สหวิชาชีพเข้าสอบปากคำเด็ก 14 แล้ว หลังตลอดทั้งคืนไม่สามารถให้ปากคำได้ ขณะตำรวจแจ้งดำเนินคดีทั้งหมด 5 ข้อหา จ่อดำเนินคดีผู้ปกครองด้วย

ความเคลื่อนไหวที่ สน.ปทุมวัน ตำรวจได้คุมตัวเด็กชายอายุ 14 ปี ไว้เพื่อสอบปากคำ ตลอดทั้งคืน มีรายงานว่าจนถึงขณะนี้เด็กที่ก่อเหตุยังไม่สามารถให้ปากคำได้ โดยที่ผู้ปกครองของเด็กได้เดินทางมาที่ สน.แล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้ (3 ต.ค. 2566)

และล่าสุดเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรวมถึงสหวิชาชีพ ได้เดินทางมาที่ สน.ปทุมวัน เพื่อเข้าสอบปากคำเด็กอายุ 14 ปีแล้ว

หลังจากได้รับการประสานจากตำรวจเพื่อให้ร่วมเข้าสอบปากคำตามกฎหมาย เนื่องจากตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เด็กอายุ 14 ปี ยังไม่สามารถให้การได้เนื่องจากสภาพไม่พร้อมที่จะให้ปากคำกับตำรวจ

พลตำรวจตรีนครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 กล่าวว่า ดำเนินคดีเด็กอายุ 14 ปี จำนวน 5 ข้อหา ประกอบด้วยฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนจะมีการแจ้งข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่อยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงอยู่ในระหว่างสอบสวนด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ปกครองจะมีความผิดเข้าข่ายตาม พรบ.คุ้มครองเด็กด้วยหรือไม่

หลังจากสอบปากคำเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งตัวเด็กอายุ 14 ปี ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อทำการไต่สวนต่อไป

ส่วนการตรวจค้นบ้านพักของเด็กที่เพชรเกษมเมื่อคืนนี้และพบของกลางจำนวนมาก จะมีการแยกดำเนินคดีเพิ่มอีก 1 คดี

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินคดีกับเด็กอายุ 14 ปีว่า หากคดีที่ผู้ก่อเหตุเป็นเด็กหรือเยาวชน ตามกฎหมายพนักงานสอบสวน ต้องนำผู้ก่อเหตุมาส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับก่อนว่า การจับกุมเด็กหรือเยาวชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งตามหลักแล้วกฎหมายจะให้อำนาจพนักงานสอบสวนคุมตัวผู้ก่อเหตุไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยเมื่อนำตัวมาที่ศาลเยาวชนฯแล้ว ศาลจะพิจารณาพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุที่พนักงานสอบสวนส่งรายงานมาให้ว่าเป็นอย่างไร เช่น สภาพจิตใจ การรักษาสภาพทางจิต ยิงคนมาแล้วกี่คน พ่อแม่มีการดูแลอย่างไร โดยพนักงานสอบสวนจะต้องมาให้ศาลไต่สวนด้วย เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าจะควบคุมตัวหรือปล่อยตัวไป

ส่วนกรณีของเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิตหากศาลเห็นว่า ถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้ ก็จะให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองดูแล และอาจวางมาตรการต่างๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่เด็กดูแลไม่ได้ ก็อาจจะให้องค์กร หรือหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็กเป็นผู้ดูแล หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร เช่น สถานดูแลทางจิตเวช แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่ารุนแรงขนาดไหน และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็ก

ในส่วนของพ่อแม่ของเด็ก ตามกฎหมายแล้วหากเป็นเด็กหรือเยาวชน ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พ่อแม่ก็ต้องรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนผิด


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/AO1w_2ryHvU

คุณอาจสนใจ

Related News