สังคม

'พล.ต.อ.เอก' เปิดใจ สาเหตุ 'โหวตสวน' ไม่เห็นชอบ 'ต่อศักดิ์' นั่ง ผบ.ตร. คนที่ 14

โดย paweena_c

28 ก.ย. 2566

34 views

28 กันยายน 2566 พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีต รอง ผบ.ตร. และอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดใจกับรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ หลังจากที่ประชุม ก.ตร. มีมติตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 ด้วยมติเห็นชอบ 9 เสียง ต่อ ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ซึ่งเสียงที่ไม่เห็นชอบเพียงผู้เดียวคือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์


พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ในเบื้องต้นของวาระพิจารณาการแต่งตั้ง ตามกฎหมายได้ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอรายชื่อให้ที่ประชุม ก.ตร. โดยนายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้ กรรมการทุกท่านได้แสดงความคิดเห็น ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ และการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่ง พล.ต.อ.เอก ได้แสดงความคิดเห็นว่า การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ)

พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า เดิมการแต่งตั้ง ผบ.ตร. เป็นอำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรี เสนอขอความเห็นชอบจาก ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ) ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีทั้งหมด ที่ผ่านมาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ทั้งหมด

พล.ต.อ.เอก กล่าวถึงการแต่งตั้งในครั้งนี้ว่า ภายใต้บริบทของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ที่เน้นให้ความสำคัญว่าการแต่งตั้งต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ และมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระที่ได้กำหนดเพิ่มขึ้น ที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการคัดคุณธรรม’ ถือเป็นครั้งแรก เพราะหากการแต่งตั้งไม่ถูกต้อง ก็จะผิดวินัย และผิดกฎหมาย ซึ่งกำหนดโทษไว้ด้วย คณะกรรมการ จึงควรใช้วิจารณญาณ และดุลยพินิจ ในการแต่งตั้ง ภายในกรอบของกฎหมาย

ในที่ประชุม ก.ตร. ครั้งนี้นอกจาก พล.ต.อ.เอก ได้อภิปรายแล้ว ยังมี กรรมการหลายท่านอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ จนได้ข้อสรุป ซึ่ง ผบ.ตร. จะเป็นผู้สรุปผล โดยนายกรัฐมนตรี ให้กรรมการทั้งหมดโหวตโดยเปิดเผย คือใช้วิธีการยกมือ ว่าใครจะเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอบ้าง

ผลการโหวต มีผู้เห็นชอบ 9 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่เห็นชอบ 1 คน คือ พล.ต.อ.เอก ซึ่งระบุว่า “ไม่ได้คัดค้าน แต่ไม่เห็นชอบ”

พล.ต.อ.เอก ให้เหตุผลว่า คือ การคัดเลือกเสนอแต่งตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และขอให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม

เมื่อถูกสอบถามว่า ทำไมถึงเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์?
พล.ต.อ.เอก ตอบว่า มองเฉพาะตัวบทกฎหมายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ บริบทของกฎหมายแต่งตั้งตำรวจ ต้องอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นครั้งแรกให้ความสำคัญถึงการที่จะต้องให้มีกฎหมายบริหารงานบุคคล เป็นไปในระบบคุณธรรม การแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องไม่ให้มีผู้ใด ใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาต่าง ๆ เช่น การวิ่งเต้น การซื้อขายตำแหน่ง กฎหมายจึงพยายามวางกรอบให้มีหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวด กำหนดหัวข้อ และสัดส่วนไว้ด้วย

พล.ต.อ.เอก อธิบายเพิ่มเติมว่า ตำแหน่งก่อนที่จะถึง ผบ.ตร. คำนึงถึงอาวุโสก่อน 100% เรียงตามลำดับ จะเห็นได้ว่า บริบทกฎหมาย ให้ความสำคัญถึงเรื่องอาวุโส ฉะนั้นเมื่อมาพิจารณาข้อเท็จจริงในการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เอก เห็นว่า การเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับที่ 4 ไม่ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่เห็นด้วยในมติดังกล่าว

พล.ต.อ.เอก ระบุว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร. ต้องพิจารณาประกอบกันทั้งอาวุโส และความรู้ความสามารถ


เมื่อถูกสอบถามอีกว่า คิดอย่างไรกับความเห็นนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า อาวุโสไม่ต่างกันเท่าไหร่ เลยต้องดูที่การสนองนโยบายรัฐบาล?

พล.ต.อ.เอก ตอบว่า ต้องยึดหลักในเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้ เคยมีกรณีเทียบเคียง การแต่งตั้งในระดับผู้บัญชาการ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา เมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งได้มีคำพิพากษาว่า หลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เหตุผลว่าเป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา จึงไม่สามารถนำมาใช้อธิบายการเลื่อนตำแหน่งได้

พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า สามารถอ้างอิงประกอบได้ว่า เพื่อสนองนโยบายของผู้บังคับบัญชา สามารถพูดได้หมด แต่โดยส่วนตัวให้ความสำคัญต่อหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กรณีเทียบเคียงที่ยกมา มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติแพ้ ขณะนี้อยู่ระหว่งการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ส่วนเรื่องที่ตั้งใจให้บันทึก พล.ต.อ.เอก ชี้แจงว่า เป็นหลักการของการประชุม เพื่อความชัดเจน หากมีการร้องทุกข์ หรือการฟ้องร้องเกิดขึ้น จะได้เป็นหลักฐานยืนยัน

เมื่อถูกสอบถามว่า รู้สึกอย่างไรที่เป็นคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย?
พล.ต.อ.เอก มองว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการประชุม ทุกท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ พูดคุยด้วยเหตุผล ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ พล.ต.อ.เอก ไม่ได้รู็สึกกดดัน หรือมีความไม่สบายใจ แม้จะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ยังนั่งประชุมกันต่อ การประชุมในวาระหลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกไปแล้ว ก็ร่วมกันพิจารณาต่อ ให้ได้ข้อยุติ เพื่อความเป็นประโยชน์ต่อองค์กร

สำหรับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล พล.ต.อ.เอก ระบุว่า รู้จักคุ้นเคย เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เริ่มรับราชการ ในสมัยที่ พล.ต.อ.เอก ดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมตำรวจ

พล.ต.อ.เอก อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์ว่า เรื่องระยะเวลาในการรับราชการ ดูภาพรวมอยู่ในกรอบอาวุโส ส่วนเรื่องความรู้ความสามารถ กฎหมายกำหนดไว้ว่าหมายถึง 3 อย่าง คือ

1. ประวัติการรับราชการ คือ เริ่มรับราชการ ในตำแหน่งไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นระยะเวลาเท่าไหร่

2. ผลการปฏิบัติราชการ คือ มีผลงานดีเด่น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ หรือได้รับรางวัล ได้รับเกียรติคุณอะไรบ้าง

3. ความประพฤติ คือ เคยถูกร้องเรียน ถูกกล่าวหา ถูกฟ้องคดี หรือมีพฤติกรรมอะไรต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ทั้ง 3 ส่วน แคนดิเดต ผบ.ตร. ทั้ง 4 ท่านผ่านหมด หมายถึงความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ถือว่าความรู้ความสามารถเท่ากันหมดทุกคน

ในความเห็นของ พล.ต.อ.เอก จึงยืนยันว่ากลับมาที่เรื่องอาวุโส เน้นหนักหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเป็นหลัก

พล.ต.อ.เอก มองว่า คงไม่ใช่ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีชี้ขาด แต่การโหวต กรรมการเป็นผู้โหวต

เมื่อถูกสอบถามถึงโทษที่กฎหมายกำหนดหากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ พล.ต.อ.เอก ตอบว่า กฎหมายได้บัญญัติถึงการที่ผู้ที่มีส่วนได้เสีย (ผู้ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง) อาจจะใช้สิทธิร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรม ผ่าน คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตำรวจนำมาจากข้าราชการพลเรือน

คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม เป็นองค์กรอิสระ หมายถึงเป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด มาจากการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการที่สรรหามี 4 คน ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด, รองประธานศาลฎีกาที่ศาลฎีกามอบหมายมา, เลขาธิการ กพ. และตัวแทนจาก ก.ตร.

ส่วนผู้ที่สมัครเข้ามา เป็นข้าราชการระดับสูงทั้งหมด คือถ้าเป็นตำรวจ ต้องเป็นระดับพลตำรวจโท หรือผู้บัญชาการขึ้นไป ถ้าเป็นพลเรือน ต้องเป็นระดับอธิบดี หรือเป็นผู้พิพากษาระดับสูง เช่น ศาลฎีกา เป็นต้น กระบวนการคัดสรร พรุ่งนี้จะคัดจาก 19 คน เหลือ 7 คน

เมื่อได้คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมแล้ว คณะกรรมการชุดนี้จะสามารถดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งตั้งตำรวจ โดยพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งผลวินิจฉัย ถือเป็นการยุติ คือ คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมทำหน้าที่เทียบเท่า ศาลปกครองกลาง หากจะร้องอุทธรณ์อีก ต้องไปร้องต่อศาลปกครองสูงสุด

สำหรับการร้องทุกข์ ถ้าฟังขึ้น ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อการแต่งตั้งโยกย้าย จะวินิจฉัยว่าเป็นความผิดวินัย ถ้าผิดวินัยร้ายแรง ก็สามารถลงโทษได้ทันที โดยไม่ต้องสอบสวนอีก ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษความผิดทางอาญาไว้ด้วย แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ ผู้ใดที่ใช้อำนาจแต่งตั้งโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า มีการให้ความสำคัญต่อการบริหารงานบุคคล เป็นไปในระบบคุณธรรม ไม่ต้องการให้ใครมาใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบ

องค์กรอิสระกำลังจะเพิ่มขึ้นมา ยังมีคณะกรรมการร้องเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับตำรวจ ที่จะรับเรื่องราวร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ซึ่งมี พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร เป็นกรรมการด้วย

เมื่อถูกสอบถามอีกว่า หากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ใครต้องรับผิดชอบ?
พล.ต.อ.เอก ตอบว่า รูปแบบการฟ้องร้องคงมีการฟ้อง ก.ตร. เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 2

ส่วนการประชุม ก.ตร. ครั้งก่อนหน้าที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน การเลื่อนประชุมในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากตัวของ พลเอก ประยุทธ์ เอง เพราะอยากให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นผู้พิจารณา ส่วนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็มีการหารือกันอยู่ตลอด


คุณอาจสนใจ

Related News