เศรษฐกิจ

เช็กรายละเอียดการ 'พักหนี้เกษตรกร' หลังมติ ครม.เห็นชอบงบ 1.1 หมื่นล้าน เริ่มสมัคร 1 ต.ค.66

โดย nattachat_c

27 ก.ย. 2566

1.2K views

วานนี้ (26 ก.ย. 66) นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.


โดยแบ่งอนุมัติกรอบงบประมาณในปีแรกก่อน เป็นเงินกว่า 11,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินมาตรการพักหนี้ และฟื้นฟูเกษตรกร ซึ่งแตกต่างจากการพักหนี้ 13 ครั้งที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้จะมุ่งเป้าที่เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรจะต้องสมัครเข้าโครงการโดยสมัครใจด้วยตัวเอง เป็นการพักชำระทั้งต้น และดอกเบี้ย


โดยรัฐจะรับผิดชอบดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น กลุ่มหนี้ปกติ และ กลุ่มหนี้ NPLs


อย่างไรก็ตาม ในส่วนกลุ่มหนี้ปกติ จะยกเว้นกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการอื่นอยู่แล้ว แต่หากครบระยะโครงการ สามารถเข้ามาร่วมโครงการพักชำระหนี้ได้ ในระยะถัดไป


ทั้งนี้ มาตรการพักชำระหนี้ จะให้สิทธิ์กับลูกหนี้รายย่อย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเกษตรกรลูกค้ารายย่อย จำนวน 2.698 ล้านราย ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567


โดย เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง วันที่ 31 มกราคม 2567


สำหรับลูกหนี้ ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว


ในส่วนกลุ่มลูกหนี้ปกติ หากระหว่างพักต้นและพักดอกในโครงการอยู่นั้น ลูกหนี้สามารถชำระหนี้สินได้ อย่างน้อยเงินที่ชำระครึ่งหนึ่ง จะตัดเงินต้นให้


ส่วนลูกหนี้ NPLs ในช่วงที่รัฐเข้าไปช่วยดูแล ต้องปรับตัวให้ขึ้นมาอยู่ระดับลูกหนี้ปกติให้ได้ภายใน 3 เดือน รัฐบาลจึงจะช่วยชดเชยหนี้สินในส่วนดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. และในช่วง 3 ปี สามารถชำระหนี้สินได้ จะนำไปตัดเงินต้นให้ 100%


นอกจากนี้ จะดำเนินมาตรการควบคู่คือ การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ให้กับผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรโดยดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ ให้เกษตรกรได้นำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ เป็นเงินกู้เพิ่มเติมรายละไม่เกิน 100,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษด้วย


ส่วนมาตรการพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง ซึ่งจะนำเสนอในคราวต่อไป

-------------
ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินมาตรการพักหนี้เกษตรกรครั้งนี้ มีความแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา ผ่านจุดเด่น 5 ประการ ได้แก่


1. คงหนี้ชั้นเดิมไว้

2. ตัดเงินต้น เปลี่ยนลำดับการชำระหนี้

3. ให้สินเชื่อเพิ่มเติม

4. เพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการดูแลเพิ่มความสามารถเกษตรกร

5. รวมหนี้เอ็นพีแอล ตั้งใจให้เอ็นพีแอลลดลง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และจ่ายเงินต้น
-------------







คุณอาจสนใจ

Related News