อาชญากรรม

'อำนวย นิ่มมะโน' เตือนรุ่นน้องแถลงข่าวสืบสวน เหมือนสาวไส้ให้กากิน ทนายผู้ต้องหายิ้มกริ่ม

โดย nattachat_c

18 ก.ย. 2566

163 views

จากกรณี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ได้เกิดเหตุคนร้ายยิงตำรวจทางหลวง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือสารวัตรแบงค์ สารวัตรตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง กระสุนถูกเข้าทั่วร่างกาย กว่า 7 นัด เสียชีวิต และ โดน พ.ต.ท.วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง กระสุนถูกเข้าที่บริเวณแขนซ้ายบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดในบ้านหลังหนึ่งพื้นที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม ซึงต่อมาทราบในภายหลังว่า เป็นบ้านของ ‘กำนันนก’


ต่อมา ได้มีการสืบสวนในเชิงลึกเกี่ยวกับอิทธิพลของ 'กำนันนก' โดยพบว่า กำนันนกมีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้บริหารบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 2 บริษัท คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมี นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก เป็นกรรมการบริษัท ได้ประมูลงานโครงการของรัฐ ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน รวมทั้งหมด 1,544 โครงการ ราคาประมูล 6,964,815,249.47 บาท


โดยพบลักษณะการฮั้วประมูล 2 แบบ คือ 

1. ราคาต่ำกว่าราคากลางนิดหน่อย

2. ราคาต่ำกว่าราคากลางเกินเหตุ (100 ล้าน)

----------

วานนี้ (17 ก.ย. 66) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูล เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 ก.ย. 66) ได้เรียกบริษัทที่มีประวัติซื้อซองประกวดราคา ให้เข้ามาแจ้งข้อมูล จำนวน 20 บริษัท ต่อเนื่องกัน ในวันที่ 19 ก.ย. ก็จะเรียกมาอีก 20 บริษัท ส่วนในวันที่ 20 ก.ย.18 บริษัท รวม 58 บริษัท


โดย ประเด็นการสอบถามคือ สาเหตุของการซื้อซองประกวดราคา แต่ไม่เข้าร่วมเสนอราคา ซึ่งทั้งหมดนี้ จถถูกเรียกสอบในฐานะพยาน ส่วนกลุ่มบริษัทที่ต้องสงสัยว่า เข้าข่ายฮั้วประมูล จะไม่มีการเรียกสอบปากคำ


แต่หากสืบสวนสอบสวนแล้ว พบพยานหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาได้ ก็จะออกหมายเรียกให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ตามขั้นตอนทางกฎหมาย


แต่ยอมรับว่า คดีฮั้วประมูล เป็นคดีที่ต้องใช้เวลา เพราะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากรายเอียดการเงิน, งานเอกสารต่าง ๆ ไปจนถึงการจัดซื้อ จัดจ้าง อนุมัติงบประมาณ เป็นต้น

----------
วานนี้ (17 ก.ย. 66) มีรายงานว่า นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ผู้ต้องหาในคดียิงสารวัตรแบงค์เสียชีวิต ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย .2566 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบ และติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม หรือ กต.ตร.จังหวัดนครปฐม


ซึ่งหากดูจากเอกสารทางราชการ มีข้อความระบุว่า คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม ที่ 2234/2566 เรื่อง ให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม พ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะราย


โดยตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม ที่ ลงวันที่ 28 เมษายน 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม ได้แต่งตั้งให้ นายประวีณ จันทร์คล้าย เป็น “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศาสนาหรือวัฒนธรรม” นั้น


แต่เนื่องจาก นายประวีณ จันทร์คล้าย มีกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐาน "เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น" ตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ลงวันที่ 7 กันยายน 2566


จึงเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม ตามระเบียบ ก.ต.ช.ฯ ดังนั้น จึงให้นายประวีณ จันทร์คล้าย พ้นจากตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศาสนาหรือวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2566


โดยมีนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม ลงนามในคำสั่งดังกล่าว

-------------

วานนี้ (17 ก.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. แถลงพูดถึงกรณี มีคำสั่งแต่งตั้งกำนันนก เป็นกรรมการการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ จ.นครปฐม เป็นคำสั่งที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ที่เสนอโดยผู้บังคับการจังหวัดนครปฐม


แต่เมื่อเกิดเรื่อง ได้เซ็นยกเลิกคำสั่งไปแล้ว โดยการเสนอของผู้บังคับการฯ เสนอไปยังผู้ว่าฯ


ส่วนการคัดเลือก ต้องยอมรับว่า กำนันนกและผู้บังคับการฯ รู้จักกันอยู่แล้ว เพราะถ้าหากไม่รู้จัก ก็คงไม่มีการแต่งตั้ง โดยส่วนนี้กองปราบจะสอบสวนต่อ


ส่วนคุณสมบัติในการแต่งตั้ง มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว คนที่จะเข้ามาเป็น กต.ตร.ต้องเอาคนที่มีจิตมุ่งมั่นที่จะมาสนับสนุนงานตำรวจ เหมือนเอาผู้แทนภาคประชาชนเข้ามา เพื่อจะบอกว่า ในจังหวัดนครปฐมมีปัญหาอะไรบ้าง เป็นเครื่องสะท้อนการทำงานของตำรวจ จึงต้องเอาคนเหล่านี้เข้ามาเป็นตัวแทนของภาคประชาชน ซึ่งจะมีการประชุมทุกเดือน


“การคัดกรองก็จะต้องคัดคนดีเข้ามา ไม่ใช่คัดคนไม่ดีเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ต้องตำหนิ และวันนี้ ทุกจังหวัดต้องตื่นตัวในเรื่องของการพิจารณา จะต้องไม่เอากลุ่มผู้อิทธิพลเข้ามาอยู่ใน กต.ตร.เรื่องนี้ต้องไปปรับเปลี่ยน”

----------

วานนี้ (17 ก.ย. 66) เวลา 16.20 น. ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ในการแถลงความคืบหน้าคดียิงสารวัตรทางหลวงเสียชีวิต


พล.ต.ท.สันติ์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษารอง ผบ.ตร.เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้นำตัวช่างติดตั้งกล้องวงจรปิดมาสอบปากคำเพิ่มเติม ข้อมูลที่กู้มาได้พบว่ากล้องวงจรปิดตัวที่ 6 ไม่มีภาพหน้าโต๊ะจีน และพบว่า มีการดึงสายกล้องวงจรปิดออก ไม่มีการล็อกอินผ่านมือถือเครื่องใด


จึงสันนิษฐานว่า กำนันนก ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้จึงใช้วิธีดึงสายกล้องออก ประกอบกับกล้องวงจรปิดตัวอื่นจับภาพได้ว่า กำนันนกอยู่ในบ้านช่วงนี้เพียงคนเดียว ส่วนการตรวจสอบ DNA ที่สายกล้อง ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะ DNA น้อย


ด้าน พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ระบุว่า ในส่วนของการดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 157 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้โอนสำนวนการสอบสวนไปที่กองปราบฯ


โดยการดำเนินการในส่วนที่เหลือจะสอบสวนต่อ ว่า ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร ซึ่งในกล้องวงจรปิด เห็นพฤติการณ์ของแต่ละคนชัดเจน กองปราบฯ จะนำไปพิจารณาต่อ


ซึ่งตอนนี้ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมากถึง 34 คน ก็จะนำไปพิจารณาให้ละเอียดและรอบคอบอีกครั้ง ยอมรับว่า การดำเนินการในส่วนนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องดูและให้ความเป็นธรรมกับทุกคน โดยบุคคลที่กระทำผิดในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานก็จะดำเนินการ “ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่”


ส่วนตอนนี้การสอบสวนแยกเป็น 2 คดี


โดยคดีแรกคือคดีการเสียชีวิตของสารวัตรศิว มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง 7 คน เป็นพลเรือนทั้งหมด ดำเนินคดีในข้อหาฆ่าผู้อื่น ส่วนกำนันนก ดำเนินคดีในข้อหาผู้ใช้ และยังมีผู้เกี่ยวข้องอีก 5 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพยานหลักฐาน ซึ่งได้แจ้งข้อหาฐานช่วยเหลือผู้กระทำผิดไปแล้ว


ส่วนอีกหนึ่งคดีคือมาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งกองปราบฯ ได้ดูสำนวนการสอบสวนไปแล้ว มีผู้ต้องหา 6 คน คือตำรวจที่มีการออกหมายจับและฝากขังไปก่อนหน้านี้

------------

พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า 


"การแถลงผลการสืบสวนสอบสวน...กับการสาวไส้ให้กากิน"


สองเรื่องนี้มีความหมายใกล้เคียงกันมากจนแทบจะแยกไม่ออก !!! "สาวไส้ให้กากิน" หมายความว่า การนำความลับของฝ่ายตน ไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้ เป็นการประจานตนหรือพรรคพวกของตน ( พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ )


ส่วนการแถลงผลการสืบสวนสอบสวน...  เป็นเรื่องของการแถลงข่าวให้ข้อมูลในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนให้สังคมได้รับรู้เท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี  ไม่เสียความยุติธรรม  และไม่กระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล ซึ่งโดยปกติถ้าอยู่ในชั้น  "สืบสวน" (ยังไม่แน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นหรือไม่) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็อาจจะให้ข่าวต่อสาธารณะได้ค่อนข้างมาก แต่เมื่อใดที่เข้าสู่ชั้น "สอบสวน"  (มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว) การให้ข่าวก็จะถูกกำจัดลงเพราะเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมแล้ว (เมื่อมีการสอบสวน) ใครอยู่ในที่เกิดเหตุบ้าง?  ใครทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่?  อย่างไร? ใครให้การอย่างไร?  วงจรปิดจับภาพอะไรได้บ้าง?  ได้อะไรมาเป็นพยานหลักฐานสำคัญในทางคดี ?  ........ วันละสามเวลาหลังอาหาร ทนายความฝ่ายผู้ต้องหาคงนั่งยิ้มกริ่ม ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก... จะให้ขอบคุณกันไปถึงไหน.... กระผมกำลังจะบอกว่ามันจะเกิดความเสียหายต่อรูปคดี เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย.....    ปรมาจารย์งานสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นปูชนียบุคคลในงานด้านนี้ ตั้งแต่อดีตจะถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ขออ้างอิงพลตำรวจเอกประยูร  โกมารกุล ณ นคร ซึ่งกระผมได้ติดสอยห้อยตามทำคดีสำคัญๆ กับท่านมาแทบจะนับไม่ถ้วน  ไม่เคยเลยที่ท่านจะปริปากเอาเรื่องในสำนวนการสอบสวนไปพูดเป็นฉากๆ  .."เรื่องนี้เป็นความลับในสำนวนบอกได้เพียงว่าเรามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด..(จบ)


กระผมกลัวนักกลัวหนา ว่าจะเอาภาพเหตุการณ์ในวงจรปิดออกมาโชว์ !!! แต่ถึงไม่โชว์ ถ้ามาพากย์เป็นฉากๆ ก็คงจะเห็นภาพครือกัน???


ด้วยความห่วงใยในงานสอบสวนยุคปัจจุบัน


พลตำรวจโท  อำนวย นิ่มมะโน

อดีต ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑

๑๕ กันยายน ๒๕๖๖

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/IChjHt-DCPI



















คุณอาจสนใจ

Related News