สังคม

ตร.ไซเบอร์ ขยายผลจับแก๊งคอลฯ สภาฯผู้บริโภค เสนอปรับเบอร์สายด่วน แจ้งความเร็วขึ้น

โดย chiwatthanai_t

12 ก.ย. 2566

85 views

ตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขยายผลจับกุมผู้ต้องหาขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ขณะที่ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอให้ภาครัฐ ปรับหมายเลขด่วนเรื่องแจ้งเหตุฉุกเฉินให้เหลือหมายเลขด่วน 3 ตัว เพื่อการแจ้งความออนไลน์รวดเร็วขึ้น


ตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำกำลังเข้าจับกุมตัว นายกำชัย หรือ ปุ๊ อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาได้ที่ บริเวณบ้านพัก ในซอยเทศบาลบางปู 91 อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ในความผิดฐาน "ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน, ร่วมกันโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และ ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์


นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและเคยถูกจับกุมตัวมาก่อน เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การว่าก่อนหน้านี้มีหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งรู้จักกันได้มาขอ บัตรประจำตัวประชาชนไป โดยไม่ได้แจ้งว่าจะนำไปทำอะไร พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนมา เป็นจำนวนเงิน 200 บาท จึงเชื่อว่าจะมีการนำบัตรประชาชนของตนไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์


คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายซึ่งตกเป็นเหยื่อของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร โทรศัพท์มาแจ้งให้ผู้เสียหายส่งงบการเงินประจำปี ที่ยังค้างชำระและให้อัพเดทข้อมูลส่วนตัวให้เป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งใช้แอพพลิเคชั่น Line ชื่อ กระทรวงพาณิชย์ ส่งลิงก์มาให้ผู้เสียหายโดยแจ้งว่าเป็นลิงก์เว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อให้ผู้เสียหายกดเข้าไปตรวจสอบว่ามีการค้างภาษีหรือไม่ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงกดเข้าไปจากนั้นโทรศัพท์มือถือได้ค้างและดับไป ต่อมาปรากฏว่ามีการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย ผ่าน Mobile Banking จำนวน 2 บัญชี รวมเป็นเงิน เกือบ 2 ล้านบาท ผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอก ได้เข้าร้องทุกข์กับตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้ช่วยติดตามจับกุมคนร้าย


ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่องจบปัญหา โซเชียลดูดเงิน และแก็งคอลเซ็นเตอร์ โดยเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ มก. และโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุค และยูทูบ โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาระบุว่าผู้บริโภคกลายเป็นเหยื่อที่ไร้อำนาจต่อรองมากที่สุด เพราะนโยบายรัฐส่วนใหญ่มีเพียงเตือนอย่าหลงเชื่อ ทั้งที่มิจฉาชีพล้ำหน้าไปมาก และเมื่อเหยื่อเสียเงินไปแล้ว มักได้รับคำแนะนำจากสถาบันการเงินให้ไปฟ้องร้องเอง ซึ่งเป็นเรื่องยาก นายอิฐบูรณ์ ยังเสนอให้ภาครัฐ ปรับหมายเลขด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินภัยออนไลน์ ให้เหลือหมายเลขด่วน 3 ตัว เช่น 191 ซึ่งจำได้ง่าย เมื่อรู้สึกตัวว่าถูกหลอกจะได้แจ้งทางออนไลน์ได้เร็วขึ้น


ขณะที่ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ ตำรวจไซเบอร์ และนักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ระบุว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นภัยอันดับต้นๆของสังคม เพราะมิจฉาชีพกลุ่มนี้พยายามปรับรูปแบบการหลอกลวงให้ทันเหตุการณ์เสมอ โดยความเสียหายเฉพาะจากกรณีการหลอกลวงทางไซเบอร์ขณะนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาทแล้ว

คุณอาจสนใจ

Related News