สังคม

รวบแก๊งนักล่าวัตถุโบราณ ทำคอนเทนต์-โพสต์ขายออนไลน์ เงินหมุนเวียน 3 เดือนกว่า 10 ล้าน

โดย petchpawee_k

5 ก.ย. 2566

396 views

“ตร.สอบสวนกลาง-กรมศิลปากร” ทลายแก๊งนักล่าสมบัติโบราณ ลอบขุดหาวัตถุโบราณโพสต์ขายผ่านออนไลน์ ยึดของกลางกว่า 1,000 ชิ้น พบมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 200,000 บาท เฉพาะในห้วงเวลา 3 ปี มียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้าน พฤติการณ์มีการถ่ายคลิปสร้างคอนเทนต์นำไปโพสต์ในโซเชียลดึงดูดผู้ที่สนใจ


วานนี้ (4 ก.ย.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วย พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการตำรวจปราบปราม และตัวแทนจากกรมศิลปากร นำโดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมกันแถลงผลการทลายแก๊งนักล่าสมบัติโบราณ สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 3 ราย และตรวจยึดวัตถุโบราณกว่า 1,000 ชิ้น เครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่องพร้อมอุปกรณ์การขุด/สมุดธนาคาร 4เล่ม และสิ่งของคล้ายวัตถุโบราณอีก 970 ชิ้น


  โดยผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาทั้ง 3 ราย ประกอบไปด้วย

 1.นายทศพร (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี จับกุมได้ในพื้นที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

 2.นายทศพล (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี จับกุมได้ในพื้นที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

 3.นายศรีออน (สงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี จับกุมได้ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา


 ทั้ง 3 ราย ถูกแจ้งกล่าวหาร่วมกันเป็นผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุที่ซ่อนหรือฝัง ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของได้และได้เบียดบังเอาโบราณวัตถุนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยถูกกฎหมายและจำหน่ายซึ่งโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมาย


สำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหานั้น ทางตำรวจปราบปรามได้รับแจ้งเบาะแสจากกลุ่มอนุรักษ์โบราณวัตถุว่ามีกลุ่มบุคคลลักลอบขุดวัตถุโบราณและนำไปขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ จากการตรวจสอบพบบัญชีเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ต้องหา ลงภาพการขุดค้นวัตถุโบราณ พร้อมประกาศขายสิ่งของคล้ายวัตถุโบราณหลายรายการ ตำรวจจึงดำเนินการติดต่อสั่งซื้อสิ่งของขายวัตถุโบราณ


 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับวัตถุโบราณที่สั่งซื้อมาแล้ว จึงได้ดำเนินการส่งให้สำนักศิลปากร กรมศิลปากรตรวจพิสูจน์กระทั่งผลการตรวจสอบพบว่า วัตถุที่ทางเจ้าที่ตำรวจติดต่อซื้อจากกลุ่มผู้ต้องหานั้น เป็นโบราณวัตถุตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ซึ่งกฎหมายดังกล่าว ห้ามมิให้ขุด ค้นหา หรือซื้อขายโบราณวัตถุ


เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามจึงได้ดำเนินการสืบสวน พบว่านายทศพร และนายทศพล ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายเป็นพี่น้องกัน ทำหน้าที่ร่วมขุดหาวัตถุโบราณตามสถานที่ต่าง ๆ กับบุคคลอื่น ๆ รวม 5 คน และนำสิ่งที่ขุดค้นมาได้ประกาศขายผ่านเฟซบุ๊ก ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐานและขออำนาจศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา 3 ราย


พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผู้กำกับการ กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราบ กล่าวว่า จากการสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้จะเริ่มจากการตั้งกลุ่มออกตระเวนขุด โบราณวัตถุตามโบราณสถานต่าง ๆ หรือ ดำน้ำงมหาสิ่งของริมแม่น้ำใหญ่ ๆ ตามพื้นที่ จ.พะเยา, สุโขทัย และ ลำปาง ราชบุรี โดยระหว่างที่ออกไปขุด หรือดำน้ำงมหานั้นผู้ต้องหากลุ่มนี้จะมีการถ่ายทำเป็นคลิปวิดีโอ คล้ายกับลักษณะการสร้างคอนเทนต์นำไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้ที่สนใจ และเพิ่มมูลค่าของวัตถุโบราณที่เข้าไปขุด โดยขณะที่ขุดมาการอธิบายและบอกสถานที่ ตำแหน่งที่ไปขุดด้วย


จากนั้นเมื่อได้โบราณวัตถุมาก็จะนำไปโพสต์ประกาศขายเพจเฟซบุ๊ก หรือ นำไปขายตามร้านรับซื้อวัตถุโบราณต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จึงรวบรวมพยานหลักฐาน ขออำนาจศาลออกหมายจับพร้อมหมายค้น จนนำมาสู่การเปิดปฏิบัติการจับกุมตรวจยึดของกลางได้ดังกล่าว


จากการสอบสวน นายทศพรกับนายทศพล ให้การรับสารภาพว่าทำไปเพราะไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเงินที่ได้ก็นำมาใช้จ่ายใช้สอบในชีวิตประจำวัน ทำมานานหลายปี ส่วนนายศรีออน ให้การปฏิเสธ ซึ่งในส่วนนี้ก็ไม่ได้หนักใจอะไร เพราะมั่นใจในพยานหลักฐาน จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารผู้ต้องหาทั้งหมดพบมีรายได้ต่อเดือนตกเฉลี่ยประมาณ 200,000 บาท และ เฉพาะในห้วงเวลา 3 ปี มียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้านบาท


พล.ต.ท.จิรภพ เผยว่า ขบวนการซื้อขายวัตถุโบราณในคดีนี้ มีกลุ่มผู้กระทำความผิดเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มขุดค้นหาวัตถุโบราณและประกาศขาย ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานและออกหมายจับผู้ต้องหาได้ทั้ง 3 ราย ข้างต้น ส่วนอีก 2 ราย ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนหาพยานหลักฐานและเส้นทางการเงินเพิ่มเติมก่อนออกหมายจับต่อไป


ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นเป็นกลุ่มพ่อค้ารับซื้อของโบราณ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นคนไทยทั้งหมด อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการจับกุม โดยกลุ่มพ่อค้าที่รับซื้อวัตถุโบราณที่มีที่มาผิดกฎหมายก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถานฯเช่นเดียวกัน


นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ขบวนการซื้อขายและลักลอบขุดวัตถุโบราณเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและพบว่ามีเป็นจำนวนมาก หลังจากนี้จะร่วมมือกับตำรวจสอบสวนกลางกวาดล้างขบวนการเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นการทำลายศิลปะวัฒนธรรมของประเทศชาติ ราคาของวัตถุโบราณบางชิ้นไม่อาจเทียบได้กับวัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์


 อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเพิ่มเติม เป็นข้อสังเกตแก่ประชาชนว่าหากบุคคลใดได้ขุดค้นโดยบังเอิญแล้ว พบว่าสิ่งของหรือวัตถุที่ค้นพบนั้นเป็นเครื่องรางของขลัง พระเครื่อง หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่มีลักษณะเหมือนปัจจุบัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นวัตถุโบราณ ให้ดำเนินการแจ้งกรมศิลปากร สำนักงานศิลปากรทั้ง 12 สำนักงานทั่วประเทศ


หรือส่งมอบส่งมอบให้กับวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์โบราณวัตถุต่อไป โดยจะมีรางวัลให้แก่บุคคลที่สามารถขุดคนและส่งมอบให้กับทางราชการ หากใครเจตนาตั้งใจจากขุดหาวัตถุโบราณเพื่อนำไปขายหรือเบียดบังครอบครองเป็นของตนจะมีความผิดทางกฎหมาย


นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ระบุว่า สำหรับวัตถุโบราณที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจยึดได้นั้น เป็นวัตถุโบราณที่มีที่มาจากอารยธรรมโบราณแถบภาคเหนือของประเทศไทย อาทิ หอยเบี้ยหรือเงินเจียงสมัยเชียงแสน ซึ่งไว้ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราในสมัยโบราณ ภาชนะดินเผาไว้ใช้บรรจุสิ่งของต่าง ๆ  เครื่องมือโลหะ เข็มสักโบราณ  เครื่องประดับโบราณ  เครื่องรางของขลัง  และวัตถุโบราณอื่น ๆ


ซึ่งสิ่งของเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมโบราณ และความเจริญก้าวหน้าด้านการค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีเส้นทางการค้าขายระหว่างแถบมหาสมุทรอินเดีย อาณาจักรโบราณภาคเหนือของไทย และกลุ่มอารยธรรมแถบทะเลจีนใต้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/gfRQKvbblsM


คุณอาจสนใจ