เลือกตั้งและการเมือง

"อาจารย์โคทม" เผยยังตอบไม่ได้ว่า "ทักษิณ" กลับมาเป็นการปรองดองสลายขั้วทางการเมืองหรือไม่

โดย kanyapak_w

22 ส.ค. 2566

48 views

อาจารย์โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้การกลับบ้านของอดีตนายกฯ "ทักษิณ" ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นการปรองดองสลายขั้วทางการเมืองหรือไม่ เพราะเป็นเพียงก้าวแรก ต้องดูกันต่อไป แต่หัวใจสำคัญที่จะสร้างการปรองดองให้สังคมได้อย่างแท้จริง คือการทำรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับ



รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการกลับเมืองไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นการสลายขั้วทางการเมือง หรือสังคมไทยกลับสู่ความปรองดองแล้ว



การกลับมาเป็นเพียงก้าวแรก ที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายต่อไปอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นคือส่วนหนึ่งในระดับบนของสังคมไทย สามารถพูดคุยตกลงกันได้ เปิดทางให้อดีตนายกฯทักษิณกลับมาเลี้ยงหลาน และทำตามที่พูดคือการวางมือทางการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก



แต่ในขณะเดียวกันมวลชนทางการเมือง ที่เรียกว่าฝ่ายเสือแดงกับฝ่ายเสื้อเหลือง หรือกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านอดีตนายกฯทักษิณ ในระดับผู้ตาม ก็มีทั้งพอใจและไม่พอใจ แต่ต้องดูท่าทีต่อไปว่าจะแสดงออกอย่างไร ถ้ากระบวนการยุติธรรม ดำเนินการตามปกติ ทุกฝ่ายรับได้ ความไม่พอใจจะค่อยๆ ลดลง



ในขณะนี้มันเร็วเกินไป ว่าสังคมกลับสู่การสลายขั้วทางการเมืองแล้ว โดยเฉพาะการจับขั้วรัฐบาล เพราะการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอด ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นอาจจะยอมกันได้ในบางเรื่อง อย่างเช่นการยอมแบ่งเค้ก การเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง สิ่งที่ทำได้เมื่อประกาศรายชื่อรัฐมนตรี ประชาชนจะต้องไม่ร้องยี้ ไม่อยากได้รัฐมนตรีที่มีอิทธิพลมีเพื่อนมากในพรรคการเมือง แต่ประชาชนอยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถ เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์สิ่งที่รัฐบาลพูดอย่างจริงจัง



การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วในครั้งนี้ ย่อมมีมวลชนที่เป็นผู้ตามของพรรคการเมืองที่ไม่พอใจ และขอแยกตัวออกจากพรรค แต่การแยกตัวออกไปต้องมอง 2 มิติ คือการจากกันด้วยดี หรือจากกันแบบโจมตีพรรคการเมืองที่ตนเองแยกตัวออกมา มันจะกลายเป็นวาทกรรมโจมตีซ้ำไปซ้ำมา



สำหรับการกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณในครั้งนี้ มันยังไม่เพียงพอจะจุดชนวนความขัดแย้งรุนแรงของผู้เห็นต่าง เพราะมนุษย์ปกติโกรธได้แค่ 15 นาที ที่เหลือจะเป็นการครุกรุ่น เก็บกดไว้ภายใน ดังนั้นถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นปัจจัยเพิ่มเติม อารมณ์ของประชาชนก็จะไม่ปะทุขึ้นมาเป็นเปลวไฟ



สิ่งที่มวลชน 2 ฝั่ง คือฝั่งอนุรักษ์นิยม และฝั่งก้าวหน้า สามารถคุยกันได้ น่าจะเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะสิ่งที่ฝั่งอนุรักษ์นิยม ประกาศว่าจะเอาก้าวไกล ไม่ร่วมมืองานกับพรรคก้าวไกล ไม่ใช่การข้ามขั้ว แต่เป็นการรักษาขั้วเดิมของตนเอง ที่ต้องรักษาความเป็นอนุรักษ์นิยมอะไร และพยายามต่อต้านทุกอย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ พยายามบอกกับสังคมว่าเป็นเรื่องไม่เข้าท่า



แต่ส่วนตัวอาจารย์โคทม มองว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายหลายข้อที่ถูกใจประชาชน ดังนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องประนีประนอม ไม่ต้องข้ามขั้ว แค่หยิบสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอเอาไปทำ สวัสดิการสังคมอันไหนเหมาะสมก็หยิบไปทำ ทำในนามรัฐบาล เพราะเป็นความคิดที่ดีแม้ไม่ใช่ความคิดของตนเอง ต้องเข้าใจความคิดของคนที่เลือกพรรคก้าวไกล



สำหรับการกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณ เป็นการกลับมาตามสิทธิของคนไทยคนหนึ่งที่สามารถกลับประเทศได้ และยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงแทบไม่เห็นของฝ่ายที่ต่อต้านอดีตนายกฯทักษิณ ออกมาเคลื่อนไหวอะไร



สิ่งที่เป็นประเด็นเปราะบาง หรือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะสร้างความขัดแย้งให้ปะทุขึ้นมา หรือจะพาสังคมไทยไปสู่การปรองดอง คือ “การจัดทำรัฐธรรมนูญ” ต้องมีกระบวนการที่ดี ไม่วางแผนเพื่อเอารัดเอาเปรียบ ปล่อยให้เป็นกระบวนการกลางๆ ไม่ปิดกั้นความคิดเห็น ประชาชนสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้ รัฐธรรมนูญที่ดี ไม่จำเป็นต้องยาว ม่จำเป็นต้องบรรจุทุกหลักการลงไป อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่สั้น ใส่ไปเฉพาะหลักการใหญ่ ตัดการตีความที่ไม่จำเป็น หรือตัดช่องร้องเรียนของกลุ่มนักร้องที่ร้องทุกเรื่อง จนกลายเป็นจุดที่ทะเลาะกันของฝ่ายต่างๆ ดูจากประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ หรือ เดนมาร์ก มีรัฐธรรมนูญเป็นร้อยๆ ปี ไม่มีกลุ่มมีมีอำนาจมาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เพราะรัฐธรรมนูญเหล่านั้น เป็นเพียงการวางหลักการใหญ่ๆ



สรุปคือรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นศูนย์รวมของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้รัฐธรรมนูญให้เป็นศิลปะที่ทุกคนช่วยกันระบายแต่งแต้มจนสวยงาม ให้ทุกคนมองว่าสวยงาม และอยู่กับรัฐธรรมนูญไปอย่างยาวนาน



สุดท้ายอยากฝากถึงประชาชนที่ติดตามข่าวการเมืองในช่วงนี้ว่า หากติดตามมากเกินไปจะฟุ้งซ่าน ใจจะรู้สึกวุ่นวาย ต้องเข้าใจความจริงของการเมืองว่าเป็นเช่นนั้นเอง คนเรายังมีกิเลส ต้องพักสมองให้อยู่กับความสงบบ้าง รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเกิดขึ้นเพื่อมอบเสรีภาพให้กับทุกคน และหวังว่าต่อจากนี้ไปจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้นการทำรัฐธรรมนูญฉบับบใหม่ ต้องมีความปราณีตและต้องใส่ใจกับเรื่องนี้จริงๆ


คุณอาจสนใจ

Related News