สังคม

สธ.เตือน 'ไข้ซิกา' ระบาดหนัก เจอแล้ว 110 คน คนท้องเสี่ยงอาการหนัก ย้ำเป็นไข้อย่ากินยาเอ็นเสด

โดย nattachat_c

28 ก.ค. 2566

772 views

วานนี้ (27 ก.ค. 66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม -19 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด แนวโน้มผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และสูงสุดในเดือนมิถุนายนคือ 30 ราย


ส่วนเดือนกรกฎาคมนี้ พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่

  • จันทบุรี 2 ราย
  • พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และตราด จังหวัดละ 1 ราย
  • ซึ่งจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้ง หรือทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้


จากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ปี 2559-2565 จำนวน 241 ราย พบว่า

  • มีการแท้ง 4 ราย
  • เด็กที่คลอดมีภาวะศีรษะเล็กและมีผลบวกต่อไวรัสซิกา 3 ราย
  • ติดตามพัฒนาการเด็กจนครบ 2 ปี จำนวน 77 ราย พบว่า มีพัฒนาการผิดปกติ 4 ราย


สำหรับการเฝ้าระวังทารกแรกคลอด 2,187 ราย พบความผิดปกติแต่กำเนิดที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา 15 ราย สามารถติดตามพัฒนาการจนครบ 2 ปี ได้ 4 ราย พบความผิดปกติด้านพัฒนาการถึง 3 ราย ขณะที่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Guillain Barre’ syndrome : GBS) 145 ราย พบสัมพันธ์กับไวรัสซิกา 5 ราย


นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ปีนี้ เริ่มพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว และยังพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งหลายพื้นที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกัน


ได้สั่งการให้ทุกจังหวัด ตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีผื่น และมีไข้ // ปวดข้อ // ตาแดง (อย่างน้อย 1 อาการ) โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในชุมชน หมู่บ้านที่พบผู้ป่วยยืนยัน ทารกคลอดที่มีศีรษะเล็ก และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย


ส่วนทารกคลอดที่มารดามีประวัติติดเชื้อไวรัสซิกา แม้ยังไม่พบความผิดปกติ ต้องติดตามประเมินพัฒนาการอย่างใกล้ชิดจนอายุครบ 2 ปี สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วย ให้ดำเนินมาตรการเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรค เพื่อลดจำนวนยุงพาหะ


โดยเฉพาะอำเภอที่พบผู้ป่วยและมีหญิงตั้งครรภ์ ให้ อสม.ช่วยแจ้งเตือนหญิงตั้งครรภ์ให้ป้องกันยุงกัด อาจใช้ยาทากันยุง และร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์


โดยเฉพาะบ้านที่มีหญิงตั้งครรภ์ และชุมชนโดยรอบให้กำจัดยุงตัวแก่ทุกสัปดาห์ จนครบ 4 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ด้วย

----------------

นพ.โอภาส กล่าวว่า ปีนี้เห็นชัดเจนมากขึ้น ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กเล็ก จึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะหากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดจุกแน่นในท้อง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นที่แยกยากจากโรคอื่นที่ระบาดในฤดูฝนเหมือนกัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู ระยะแรกจะวินิจฉัยยาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ จากนั้นอาการไข้จะมีอย่างต่อเนื่อง 3-4 วัน ก็จะลดลง จะเริ่มมีอาการเลือดออกทั้งที่เห็นและไม่เห็น จะเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด


ฉะนั้น การควบคุมโรคที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ยุงลายกัด หรืออย่าให้มียุงลายในบ้านและบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากยุงลายชอบอยู่ในบ้านและกับคน วางไข่ในภาชนะต่างๆ เช่น อ่างเลี้ยงปลา กระถางต้นไม้น้ำต่างๆ ตุ่มน้ำในบ้านหรือสุขา ขอให้ระมัดระวัง ยุงลายวางไข่จะมีวงชีวิต 7 วัน หากกำจัดเทน้ำออกเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ หรือใช้ทรายอะเบทหรือสารต่างๆ เพื่อให้ไม่เหมาะกับลูกน้ำยุงลายก็จะเป็นการควบคุมที่ดี


“ถ้ามีอาการสงสัย อย่าไปรับประทานยาที่มีผลให้อาการแย่ลงถ้าเป็นไข้เลือดออกเดงกี เช่น แอสไพริน หรือระยะหลังที่มีการให้ยาลดไข้แก้ปวดที่ค่อนข้างแรง เรียกว่า ยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน ฯลฯ พบว่าคนเสียชีวิตร้อยละ 10 มีอาการกินยาพวกนี้ ต้องย้ำเตือนทั้งเด็กและผู้ใหญ่


และได้กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยว่า ถ้าไม่แน่ใจ ช่วงนี้หากเป็นไข้ อย่าพยายามจ่ายยาพวกนี้ให้คนไข้ เพราะจะทำให้อาการหนัก และหากมีอาการสงสัยและระยะแรก หมอวินิจฉัยไม่ได้ ยังไม่ดีขึ้น อย่านิ่งนอนใจ ให้กลับไปพบหมอครั้งที่ 2 หรือ 3 กำชับเจ้าหน้าที่ในรายที่สงสัยถ้าไม่มีเหตุอื่นควรอยู่ในโรงพยาบาลไว้ก่อนเพื่อติดตามอาการ”

--------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/yLmDW4JBFGo

คุณอาจสนใจ

Related News