เลือกตั้งและการเมือง

‘วันนอร์’ สั่งงดประชุมโหวตนายกฯ 27 ก.ค. หวั่นขัดแย้ง - ‘เพื่อไทย’ ยกเลิกวงถก 8 พรรคร่วม ตั้งรัฐบาล

โดย petchpawee_k

26 ก.ค. 2566

16 views

วงประชุม 8 พรรคร่วมฯ ยกเลิกถกแล้ว หลังเปลี่ยนสถานที่จากเพื่อไทยไปรัฐสภา คาด รอความชัดเจนปมเสนอเลื่อนโหวตนายกฯ 27 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุม 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล จากเดิมจะประชุมที่พรรคเพื่อไทย วานนี้ (25 ก.ค.66) เวลา 14.00 น. ก่อนที่ในช่วงเช้าวานนี้ (25 ก.ค.66) พรรคเพื่อไทยได้แจ้งเปลี่ยนสถานที่ประชุมเป็นที่อาคารรัฐสภาแทน ในวลา 15.00 น.


กระทั่งเวลา 11:16 น. พรรคเพื่อไทยได้แจ้งยกเลิกประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต่อสื่อมวลชน และแจ้งไปยังกลุ่ม8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยข้อความ ที่แจ้งไปยังแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลระบุว่า “พรรคเพื่อไทย ต้องขออภัยผู้ประสานงานฯ ทุกพรรค ในการของดการปูระชุมในวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม นี้ เนื่องจาก การทำงานที่ได้รับมอบหมาย ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจึงของดการประชุม หากมีการนัดหมายใหม่จะแจ้งให้ทุกท่าน อีกครั้งหนึ่ง”


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสาเหตุที่มีการเลื่อนประชุมออกไป เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลื่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค.66) ออกไปก่อนหรือไม่

--------------------

“วันนอร์”สั่งงดประชุมโหวตนายกฯ 27 ก.ค. หวั่นขัดแย้งระหว่างรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ


 เมื่อเวลา 14.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร  ที่ปรึกษาประธานสภาฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาฯ


โดยที่ประชุมเห็นว่า ถ้าประธานรัฐสภาจะสั่งงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น จะได้ไม่มีความขัดแย้งกับที่รัฐสภาจะประชุมกันวันที่ 27 ก.ค. หากมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในภายหลัง และเมื่องดการประชุมวันที่ 27ก.ค.แล้ว ดังนั้นการประชุมวิป  3 ฝ่ายในวันนี้ (26 ก.ค.) จึงต้องงดไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาประชุมกัน เพราะเป็นการเตรียมการประชุมในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค.)


ประกอบกับขณะนี้มีส.ส.และส.ว.จำนวนมากมาประสานกับสำนักประธานและกองการประชุมว่า วันที่ 28 ก.ค.ช่วงเช้า จะมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่ศาลาว่าการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึง กทม.ด้วย ซึ่งทาง ส.ส. - ส.ว. เกรงว่า หากมาประชุมวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค.) และการประชุมยืดเยื้อจะไปรวมพระราชพิธีวันที่ 28ก.ค.ไม่ทัน ทำให้ ส.ส. - ส.ว.อาจไม่มาร่วมประชุมวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค.) องค์ประชุมอาจมีปัญหาได้


ดังนั้นประธานสภาฯจึงเห็นว่า เมื่อพิจารณาแล้ว ควรงดการประชุมรัฐสภาวันพร่งนี้ (27ก.ค.) ไปก่อน แต่จะไปประชุมวันใด จะสั่งการบรรจุระเบียบวาระต่อไป ขณะที่ในวันที่ 26ก.ค.ยังคงมีการประชุมสัมมนาส.ส.ตามกำหนดการเดิม ในเวลา 08.30 น.

-----------------------------------------------


ส่วนการประชุมสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.)  โดยระหว่างการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564



นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ได้อภิปรายว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะขอไม่ก้าวล่วงในอำนาจศาล แต่เห็นว่าอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ต้องเสียงบประมาณการจ่ายให้กับองค์กรนี้นับพันล้าน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหนึ่งในเจ็ดองค์กร ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต


และเพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพไม่ใช่ทำตามกระแสหรือตามที่มีผู้ยื่นคำร้อง 17 เรื่องทำให้เป็นกระแสกดดันผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งส่วนตัวเข้าใจเพราะปัจจุบันคน และหน่วยงานต่างๆ กลัวทัวร์ลงกันเยอะ จึงทำให้มีแรงกดดันในสังคมไทย แต่ส่วนตัวเห็นว่าหลายหน่วยงานต้องมีมาตรฐาน ในการทำงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการมีมาตรฐานนั้น ต้องยึดหลักยึดมั่นในรัฐธรรมนูญที่แบ่งหน้าที่ชัดเจนแล้วว่ามีฝ่ายนิติบัญญัติบริหารและตุลาการ ซึ่งเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ในสภา ใช้ดุลยพินิจของสมาชิกปัจจุบัน ทำงานร่วมกัน 750 คน


ทั้งนี้ การทำหน้าที่ในรัฐสภาถือว่าเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นอำนาจอธิปไตยของชาติ ต้องมีคนถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการซึ่งกันและกัน ดังนั้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความชัดเจนต้องแก้ปัญหาใน 2-3 เรื่องตามบทบัญญัติไว้ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ คือมติรัฐสภา และเมื่อท่านได้งบประมาณไป แล้วใช้อำนาจในทางที่เกิดปัญหาต่อบ้านเมืองได้ การใช้อำนาจทางนิติบัญญัติเมื่อตัดสินแล้วต้องยุติในรัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าสภา ตัดสินวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้วส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน


และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องกลั่นกรองตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรู้ความสามารถ ว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่อย่างไร ดังนั้นส่วนตัวเป็นห่วงว่า หากรัฐสภาต่อไปทำงานไปแล้ว เกิดมีคนไม่พอใจหรือนักการเมืองด้วยกันเองไม่พอใจยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่มีคนร้องเยอะๆกลัวทัวร์ลงก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องคุยกันเพราะมันเกี่ยวเชื่อมโยงกับงบประมาณที่กำหนดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา


ดังนั้นในการทำหน้าที่ ต้องมีกรอบพอสมควร กับการที่จะดำเนินการ จะกลับปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินขอศาลรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภา งดหรือหยุดการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี ในการประชุมครั้งที่ 3 มันเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามสิทธิเสรีภาพก็สามารถยื่นได้ แต่ไปขอให้รัฐสภางดการประชุมเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาล ทั้งๆที่บ้านเมืองต้องมีนายกรัฐมนตรีต้องมีรัฐบาล เห็นหรือยังว่าบ้านเมืองเสียหายแค่ไหนส่วนตัว ไม่ได้ห้ามเรื่องดุลยพินิจแต่มองว่า สิ่งที่ห้ามมิให้รัฐสภาประชุม หรือทำหน้าที่ต่อ อันนี้ไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน


นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงทันทีว่า ได้มีการประเมินตัวชี้วัดเรื่องการทำงานว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของการร้องเรียนซึ่งผลตอบรับพอใจกว่า 80% ขณะที่สถาบันพระปกเกล้าสำรวจความเชื่อมั่นองค์กรอิสระพบว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงสุด ในองค์กรอิสระคือ 62% เท่ากับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด


ส่วนเรื่องที่นายเสรีระบุถึงเรื่องการส่งข้อบังคับการประชุมที่ 41 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น นายทิฆัมพรยืนยันว่า องค์ประกอบครบถ้วนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้


ส่วนข้อเสนอที่ให้ชะลอเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายทิฆัมพร ระบุว่า หากข้อบังคับที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหากเลือกนายกรัฐมนตรีไปก็จะเกิดผลเสียต่อรัฐธรรมนูญจึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย และเรื่องนี้เป็น การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด


ด้านนายเสรี ลุกขึ้นอภิปรายอีกครั้งว่าสถาบันพระปกเกล้าเอง ประเมินตัวเองได้ 100% ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินสู้ไม่ได้


ส่วนการ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปนั้น มองว่าไม่สามารถทำได้ และยัง ทำให้มองว่าสิ่งที่ส่งไปเป็นเรื่องข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นเรื่องจริงทำให้สาธารณชนสับสน เพราะไม่ได้ลงมติถึงข้อบังคับและรัฐธรรมนูญอะไรใหญ่กว่ากัน และผู้ตรวจฯไม่ได้ ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เกี่ยวกับการเสนอชื่อนายกฯซ้ำได้ แต่ต้องมีสมาชิกรองรับ 2 ใน 3 อีกทั้งประธานรัฐสภา ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่ทำหน้าที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/KQIXrZBAwHk

คุณอาจสนใจ

Related News