สังคม

เกษตรกรโคนมเผยเหตุ ‘น้ำนมดิบ’ ขาดแคลน ต้นทุนสูงแบกไม่ไหว ส่งวัวเข้าโรงเชือดแทน

โดย nicharee_m

25 ก.ค. 2566

96 views

สหกรณ์โคนมปากช่อง ชี้น้ำนมดิบขาดแคลนหลังต้นทุนผลิตพุ่ง 40% เกษตรกรเลี้ยงไม่ไหว ส่งวัวเข้าโรงเชือดแทน รอหวังรัฐบาลชุดใหม่เห็นชอบมติมิลค์บอร์ด ให้ขึ้นราคาหน้าโรงงาน 2.25 บาท


น.สพ.อธิภัทร พงศ์วิทยเวคิน ผู้จัดการ สหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด กล่าวว่า ปริมาณน้ำนมดิบในระบบลดลงจริง สาเหตุหลักมาจากปริมาณแม่วัวนมในระบบลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยเศรษฐกิจไม่ดี ค่าอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 10 บาท เป็น 14 บาท อาหารข้นซึ่งเป็นต้นทุนหลักแพงขึ้น 40% รวมไปถึงอาหารแห้ง ราคาฟาง ก็ปรับขึ้น ส่งผลต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% ทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 23 บาท


ในขณะที่ ครม.อนุมัติให้ปรับขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เพียง 1.50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น เมื่อปลายปีที่แล้ว หรือรับซื้อ กิโลกรัมละ 20.50 บาท ซึ่งสมาชิกก็ต้องแบกรับภาวะขาดทุนเป็นทุนเดิม ส่งผลให้สมาชิกหลายรายเลิกเลี้ยง แม่วัวโดนเชือดขายโรงฆ่าสัตว์ ทำให้ปริมาณวัวทั้งประเทศลดลง


เช่น ที่สหกรณ์โคมนมปากช่อง จำกัด เคยรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกได้วันละ 60 ตันต่อวันเมื่อปีก่อน จากแม่วัวรีดนม 5000ตัว ปัจจุบันเหลือ 45 ตันต่อวัน จากแม่วัว 3,000 ตัว เกษตรกรสมาชิกจาก 400 เหลือ 200 กว่าราย บวกกับช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงแม่วัวพักรีดนม เพราะแม่วัวท้องต้องพักนาน 2 เดือนก่อนคลอด และเมื่อคลอดเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจึงจะให้น้ำนมได้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาด้วยปริมาณวัวในระบบอยู่ในภาวะปกติ จึงไม่มีการประกาศช่วงแม่วัวพักรีด เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำนมดิบเช่นปัจจุบัน


ซึ่งแม้ว่าหากพ้นจากช่วงแม่วัวพักรีดนมแล้ว สถานการณ์การขาดแคลนน้ำนมดิบอาจคลี่คลายลงแต่ก็กังวลว่าระยะกลาง-ระยะยาว จะกระทบ กลับอุตสาหกรรมผลิตน้ำนมดิบของไทย และสถานการณ์ปัจจุบันก็สุ่มเสี่ยง จะกระทบกับโครงการนมโรงเรียนด้วย และหากขาดแคลนหนักจนต้องนำเข้านมผงหรือ ผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ กำลังจะได้สิทธิพิเศษจาก FTA ในปี 2568 ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในระยะยาว


ทั้งนี้กลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ได้เรียกร้องผ่านชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ขอปรับขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อีก 2.25 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผ่านการอนุมัติจากมิลค์บอร์ดแล้ว แต่ต้องรอ ครม.ชุดใหม่พิจารณา ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเช่นกัน


โดยกลุ่มฯเตรียมจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เร่งนำเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้ง เคยบอกว่าแนวทางแก้ไขคือต้องปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เป็นจริงทั้งระบบ พร้อมกับส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงโคนมมากขึ้น โดยอาจใช้งบประมาณ เป็นต้นทุนให้กับเกษตรกร ซึ่งการนำเข้าแม่วัวท้องจะช่วยร่นเวลาในการให้น้ำนมได้


คุณอาจสนใจ

Related News