เลือกตั้งและการเมือง

‘เรืองไกร’ ยื่นศาล รธน. ตรวจสอบอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมร้องสอบยื่นตีความห้ามเสนอชื่อ ‘พิธา’ ซ้ำ

โดย thichaphat_d

25 ก.ค. 2566

4.4K views

จากปัญหาข้อบังคับรัฐสภาที่ รัฐสภามีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซ้ำได้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 19 ก.ค. เมื่อวานนี้ (24 ก.ค.2566) ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเรื่องนี้แล้ว

แต่ล่าสุด เช้าวันนี้ (25 ก.ค.2566) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272 นั้น

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมาจากความเห็นของนักกฎหมายจำนวนมาก และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นด้วย แต่หากพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 กรณี จึงมีประเด็นที่ควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ดังนี้

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272 โดยการกล่าวรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 หรือไม่ อย่างไร

การกล่าวอ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 มาตรา 272 นั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ใช่หรือไม่ รัฐสภาต้องเป็นผู้ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ (ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564)

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีปัญหาเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา หรือไม่ อย่างไร

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิจะขอให้ศาลดำเนินการตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่

การมีมติให้ดำเนินการดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดิน ชอบหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา กฎหมายหลายฉบับหลายมาตรา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญย่อมรู้เอง เพราะเคยวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยหลายครั้งแล้ว (เช่น ตามคำวินิจฉัยล่าสุด 7 ครั้ง ตามคำสั่งล่าสุด 7 ครั้ง) วันนี้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตรวจสอบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272  โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 หรือไม่ อย่างไร

คุณอาจสนใจ

Related News