เลือกตั้งและการเมือง

'ศปปส.-รามคำแหงรักสถาบัน' ยื่นเรียกร้อง ส.ว.ไม่โหวตนายกฯ ที่สนับสนุนการแก้ ม.112

โดย panisa_p

4 ก.ค. 2566

92 views

ตัวแทนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. และ กลุ่มรามคำแหงปกป้องสถาบัน เข้ายื่นหนังสือถึง ส.ว. ขอให้ไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และมีการแสดงความเห็นจาก ส.ว. ไปถึงพรรคก้าวไกล ที่นอกจากจะขอให้ลดเพดานเรื่องการแก้มาตรา 112 ลงแล้ว ไปมุ่งทำตามนโยบายเกือบ 300 นโยบายตามที่หาเสียงไว้



ตัวแทนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ กลุ่มรามคำแหงรักสถาบัน ยื่นหนังสือถึง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (ส.ว.) และ นายสมชาย แสวงการ ประธานกมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค



โดยตัวแทน ศปปส. เรียกร้องให้ ส.ว.ทั้ง 250 คน ที่จะมีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบโหวตเลือกบุคคลที่มีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันหลักของชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อสกัดกั้นความพยายามที่จะบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ และหยุดวิกฤตความขัดแย้งของคนในชาติโดยอาศัยกระบวนการรัฐสภา พร้อมทิ้งท้ายว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลแล้วยังยืนยันจะยกเลิก แก้ไข หรือแตะต้องม.112 อุปสรรคของพรรคก้าวไกล ก็คือ ศปปส.



ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ระบุว่า เรื่องการโหวตต้องพิจารณาในอีกหลายองค์ประกอบ ซึ่งในส่วนของการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นเรื่องหลักและสำคัญในวุฒิสภา แม้จะยังไม่มีการประชุมสภาใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ที่ได้มีการพูดคุยกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารประเทศ และการเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่กระทบกับพระราชอำนาจ



ส่วนนายสมชาย แสวงการ ประธาน กมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่าส่วนตัวไม่เชื่อว่าประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ทั้ง 14 ล้านเสียง จะต้องการให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 และสิ่งที่กระทบต่อการล้มล้างรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ ในหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นความมั่นคงของชาติ ซึ่งที่ผ่านมา ทาง ส.ว.ได้พยายามสื่อสารกับพรรคก้าวไกล ให้ลดเพดานเรื่องนี้ลง เพราะเป็นผลกระทบต่อความสงบของประเทศ จึงไม่ควรไปละเมิดกฎหมายส่วนนี้ ด้วยการเอานโยบายมาหาเสียง จนกระทบกับประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้เลือก หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เลือกเองแต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว



ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงข้อตกลงร่วม ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยวานนี้ โดยมีเนื้อหาในข้อ 4 ที่ระบุถึงการร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญ เพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมืองว่า ข้อตกลงดังกล่าวคงยังไม่สามารถระบุว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้กลุ่มใดบ้าง เพราะแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันในเรื่องการกระทำความผิด เช่น เป็นคดีที่ทุจริตคอร์รัปชัน หรือเป็นคดีถึงแก่ชีวิต ความผิดก็ต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาเหมารวมกันได้ จากนี้ขอให้รอร่างที่พรรคก้าวไกลจะยื่นเข้าที่ประชุมสภาก่อน เพราะคำตอบทุกอย่างจะอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนั้นทั้งหมด

คุณอาจสนใจ

Related News