สรุปข่าว

เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง 19 มิ.ย.66 ก้าวไกลนั่งประธานสภา-อดีตผู้การฯชลบุรีโดน 3 ข้อหา-จับแก๊งค้าลิงข้ามชาติ

โดย thichaphat_d

19 มิ.ย. 2566

113 views

-เป้รักผู้การฯ เท่าไหร่ เขียนมา พ่นพิษ อดีตผู้การฯ ชลบุรี โดน 3 ข้อหา

-เปิดวงจรปิด หลักฐานสอดคล้องหิ้วเป้ หาผู้การฯชลบุรี

-อดีตผู้การฯ ชลบุรี แจ้งจับ 13 ตำรวจ กลั่นแกล้งให้รับโทษ โดนเด้งเข้ากรุ คดีพูลวิลลา เมืองพัทยา

-ถกหาทางออก น้องหยก สิ้นสภาพ นร.บานปลาย

-รวบ 2 พรานแสบ จับจ๋อส่งขาย


เรื่องเล่าการเมือง

-ในที่สุดพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยก็สามารถตกลงกันได้แล้วในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ โดยพรรคอันดับหนึ่งจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และพรรคอันดับสอง ได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯทั้งสองคน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลตกลงที่ไปพูดคุยกัน ว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องตำแหน่งประธานสภา มีข้อสรุป 3 ข้อ คือ

1.พรรคเพื่อไทยเห็นชอบหลักการว่า พรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง จะต้องได้ตำแหน่งประธานสภาฯ

2.เนื่องจากพรรคอันดับที่ 1 และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นตำแหน่งรองประธานสภาทั้งสอง ควรเป็นของพรรคอันดับ 2

3.รายละเอียดการประสานงานต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ขอให้เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล แล้วจะแจ้งไปยังพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคต่อไป

ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะคุยจุดยืนนี้กับพรรคก้าวไกลก่อน ตอนนี้อยู่ระหว่างการนัดหมายกัน

ส่วนพรรคใดจะได้อันดับ 1 อันดับ 2 ขอให้รอการรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของ กกต.ก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 21 มิถุนายน นี้ จากนั้นจึงจะพิจารณาตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาฯต่อไป

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคก้าวไกล ยืนยันกับทีมข่าวการเมืองว่า พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ได้ข้อตกลงตามที่นายประเสริฐ ระบุ ซึ่งก็หมายถึงว่าพรรคก้าวไกล จะได้ตำแหน่งประธานสภาไป ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะได้รองประธานสภาทั้งสองคน เพราะเชื่อว่าการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพรรคอันดับ 1 และ 2

ทั้งนี้จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาฯ ใน การประชุมแกนนำของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 22 มิถุนายน นี้ ซึ่งนัดประชุมกันที่พรรคก้าวไกล หลังจาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งวันที่ 21 มิถุนายน

แหล่งข่าวพรรคก้าวไกล เปิดเผยด้วยว่า ทางพรรคได้หารือกันเป็นการภายใน และเคาะชื่อผู้ที่จะเป็นประธานสภาฯของพรรคเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามโผที่เคยปรากฏออกมาทางสื่อ อย่างไรก็ตาม ขอยังไม่เปิดเผยชื่อ

สำหรับแคนดิเดตประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกล ตามที่เคยมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ก็จะมี 3 คน คือ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ / ธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส.กทม. / และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก



-ส่วนเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ภายหลังพ้นตำแหน่ง ส.ส. ของนายพิธา เมื่อวานทีมทนายและทีมกฎหมายของพรรคได้ส่งให้เรียบร้อยแล้ว

โดยมีรายงานว่าทนายส่วนตัวของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกลได้จัดส่งเอกสารการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธา ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อยแล้ว โดยส่งทางไปรษณีย์ ประทับตราวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่นายพิธาขอเลื่อนการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว

โดยการยื่นในครั้งนี้ ทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ตามห้วงเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส. กรณีมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา 2566 คือ ภายใน 60 วัน คือ ภายในวันนี้ 19 พฤษภาคม 2566 แต่สามารถขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินได้อีกไม่เกิน 30 วัน โดยเมื่อวานนี้ (18 มิถุนายน) ซึ่งนอกจากนายพิธาแล้ว ก็มี ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งรวมมากกว่า 100 ราย ที่ขอขยายเวลาออกมาเช่นกัน



-ขณะที่นายเรืองไกร ยังเดินหน้าตรวจสอบนายพิธา ต่อเนื่อง เมื่อวานส่งหนังสือถึง กกต. ให้ตรวจสอบเรื่องที่ดินของนายพิธา ที่ระบุว่ามาจากการรับมรดก แตกต่างจากกรณีหุ้น ITV ที่บอกว่าเป็นผู้จัดการมรดก

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือถึง กกต.ผ่านทางไปรษณีย์ เพื่อขอให้เรียกพยานหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการตรวจสอบ กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 คือ รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการยื่นเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3

นายเรืองไกร ระบุว่า พบข้อสังเกตที่ควรขอให้ กกต. ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายพิธา ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ในรายการที่ดิน ทำไมหมายเหตุว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการรับมรดก ซึ่งแตกต่างจากบัญชีหุ้น บมจ.ไอทีวี ที่มีข่าวว่า ยื่นเพิ่มเติม แต่ทำไม แจ้งไม่เหมือนกัน

จึงขอให้ กกต.เรียกบัญชีการแสดงรายการที่ดิน และรายการหุ้นไอทีวี จาก ป.ป.ช. ทุกแผ่นทุกรายการ และเรียกเอกสารจากเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวจากกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินที่เกี่ยวข้อง มาตรวจสอบที่มาที่ไปว่าการรับมรดกในที่ดิน เกิดขึ้นเพราะเหตุใด มีนายพิธา เกี่ยวข้องในกรณีใด

เหตุใดจึงหมายเหตุว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้จากการรับมรดก และ มีความแตกต่างจากการการยื่นบัญชี กรณีหุ้น ITV หรือไม่ด้วย

นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังเปิดเผยด้วยว่า ทันทีที่นายพิธา ยื่นบัญชีทรัพย์สินในวาระหลังพ้นตำแหน่ง ส.ส. ต่อ ป.ป.ช. แล้ว จะยื่นเรื่องให้ กกต.เรียกบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวของนายพิธา มาตรวจสอบเพิ่มเติมทันที ไม่ต้องรอให้ ป.ป.ช.เปิดเผย ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 30-45 วัน

และทันทีที่ กกต.รับรองให้นายพิธา เป็น ส.ส. ก็จะยื่นเรื่องให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายพิธา ขาดสมาชิกภาพจากการเป็น ส.ส.เนื่องมาจากการถือหุ้นไอทีวีหรือไม่



-นิด้าโพลเปิดผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง "การชุมนุมหลังจัดตั้งรัฐบาล" พบว่าส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการชุมนุม ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯหรือรัฐบาล

โดยนิด้าโพล สำรวจความเห็นจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาค ทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

คำถามแรก ความคิดเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลใหม่ พบว่า

ประมาณร้อยละ 49 เห็นว่าจะมีชุมนุม โดย ร้อยละ 26.72 ระบุว่า จะมีการชุมนุมต่อต้าน แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น / และ ร้อยละ 22.44 ระบุว่า จะมีการชุมนุมต่อต้าน และมีความรุนแรงเกิดขึ้น

-ขณะที่ ร้อยละ 25.42 เชื่อว่า จะไม่มีการชุมนุมต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น

-และ ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ไม่มั่นใจ

ส่วนหากรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่เลือก จะทำอย่างไร

-ร้อยละ 38.63 ระบุว่า ยอมรับในรัฐบาลใหม่อย่างเต็มใจ

-รองลงมา ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ไม่ยอมรับ แต่จะไม่เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใหม่

-ร้อยละ 16.87 ระบุว่า จำใจต้องยอมรับในรัฐบาลใหม่

-ร้อยละ 14.43 ระบุว่า เฉย ๆ ไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล

-และ ร้อยละ 7.02 ระบุว่า ไม่ยอมรับ และจะเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใหม่แน่นอน

สำหรับความกังวลของประชาชนหากเกิดการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลใหม่ ส่วนใหญ่คือร้อยละ 56.87 ก็จะกังวล ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง รองลงมา ก็มีเช่น กังวลว่าจะเกิดความรุนแรงจากการชุมนุม /การเกิดความขัดแย้งของคนในชาติ / การก่อรัฐประหาร

ส่วนความเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล พบว่า

-ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 57.71 ระบุว่า เบื่อมาก

-และ รองลงมา ร้อยละ 20.46 ระบุว่า ค่อนข้างเบื่อ

ทั้งนี้ ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งก็จะมีการชุมนุมเกิดขึ้น



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/GpX-E8jflo0

คุณอาจสนใจ

Related News