เลือกตั้งและการเมือง

นักกม. ถอดรหัสคำชี้แจง ITV ปมเอกสารงบการเงินไม่ตรงคลิปประชุม

โดย panwilai_c

16 มิ.ย. 2566

146 views

นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ตั้งข้อสังเกตหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี ยังตอบไม่ชัดเจนเรื่องเอกสารการประชุมเป็นเท็จหรือไม่ รวมถึงการจัดทำงบการเงิน ที่ต้องมีกรรมการอิสระตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ในฐานะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการที่ไอทีวีประกอบกิจการสื่อจริงหรือไม่ ก็ต้องมาจากหลักฐานที่ถูกต้อง การที่ กกต.จะนำไปใช้ในการพิจารณาคดีถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ



จากคำชี้แจงผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 โดยคณะกรรมการ บริษัท ไอทีวี ยังมีประเด็นที่นักกฏหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มองตรงกันว่า ยังไม่ได้ชี้แจงประเด็นสำคัญ ว่าทำไมคำตอบของนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ในเอกสาร ไม่ตรงกับ ในคลิปวีดีโอ และทำไมต้องบันทึกไว้ในเอกสาร ซึ่งบริษัทไอทีวี รวมถึงบริษัทอินทัช ที่เป็นบริษัทแม่ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นเอกสารเท็จหรือไม่ ซึ่งบริษัทอินทัช ได้แจ้งต่อ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้



แต่เนื่องจากคำสั่งการตรวจสอบลงนามโดยคิมส์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ ซึ่งก็เป็นคนเดียวกับ นายคิมส์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม บริษัทไอทีวี ที่ลงนามในบันทึกการประชุม และ เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ไอทีวี ซึ่งอาจต้องมีกรรมการที่เป็นอิสระมาตรวจสอบ



ส่วนคำชี้แจงว่าไม่ได้ต้องการสื่อสารว่าบริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด ซึ่งจากวัตถุประสงค์ของบริษัทข้อที่ 18 และ 40-43 ที่ระบุเกี่ยวกับสื่อ จะเกี่ยวข้องกับการชี้แจงงบการเงิน ทั้งงบปี 2565 ที่มีการระบุถึงการทำสื่อโฆษณา และงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 แม้จะเป็นฉบับร่างที่ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ แต่ถ้าจะมีการว่าจ้างจริง ก็จะเป็นการดำเนินกิจการสื่อ ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 28 เมษายน 2566 ตามที่ระบุไว้ในงบการเงิน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ก่อนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงสมัคร ส.ส.ในวันที่ 4 เมษายน 2566 ซึ่งจะเป็นเหตุที่จะนำไปสู่การพิจารณาคดีถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาด้วย และการดำเนินกิจการสื่อตามวัตถุประสงค์ถ้ามีหลักฐาน ก็จะต่างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีหุ้นสื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 29 คนที่ศาลยกฟ้อง



หลักฐานการการว่าจ้างสื่อโฆษณาจริงหรือไม่ จึงยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องนำมาพิสูจน์ว่ามีการดำเนินกิจการสื่อตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ เพื่อความสุจริตโปร่งใส และหาก กกต.จะนำเข้าสู่การพิจารณาตามมาตรา 151 กฏหมายเลือกตั้ง ส.ส.เอาผิดนายพิธา โดยไม่มีการพิสิจน์ว่าเป็นหุ้นสู่หรือไม่ อาจสุ่มเสี่ยงใช้อำนาจโดยมิชอบ เนื่องจากคำพิพากษาฎีกามาเทียบเคียงแล้วว่าการมีหุ้นที่น้อยไม่มีผลในการครอบงำสื่อรับสมัคร ส.ส.ได้



ส่วนเรื่องการเป็นผู้จัดการมรดก การที่ เลขาธิการ ปปช.ยืนยันว่า นายพิธา ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินในวันเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2562 แล้ว ซึ่งตามกฏหมายมรดก หากพบว่าไม่ได้แบ่้งให้ทายาท ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของมรดกโดยแท้จริง



คดีหุ้นไอทีวี จึงต้องติดตามการพิจารณาคดีของ กกต.นับจากนี้ และข่าว 3 มิติ ยังรอการชี้แจงโดยตรงจากผู้บริหารบริษัทไอทีวี

คุณอาจสนใจ

Related News