สรุปข่าว

เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง 17 พ.ค.66 ก้าวไกลหารือเพื่อไทยตั้งรัฐบาล - ถกเดือดปมโหวตนายกฯ - แพ้เลือกตั้งแต่ถูกหวย24ล้าน

โดย thichaphat_d

17 พ.ค. 2566

88 views

-รองอ๊อฟ อดีตสามี แอม ไซยาไนด์ รับทราบข้อหากับกองปราบ ฐานสนับสนุนช่วยเหลือซ่อนกระเป๋าก้อย ปัดให้สัมภาษณ์สื่อ ตำรวจไม่เชื่อคำสารภาพแอม อ้างใส่ไซยาไนด์ที่ได้จากแด้ ส่งให้ก้อย ลองผสมยาเสพติด คาดให้การหวังรอดคดีเท่านั้น

พลตำรวจเอกชินภัทร รอง ผบ.ตร. ยันทำงานด้านยาเสพติดกว่า 30 ปี ไม่เคยพบใส่สารไซยาไนด์ในยา เพราะมีความรุนแรงเกิน อาจารย์อ๊อด ชี้ไซยาไนด์ ผสมในยาเสพติดไม่ได้ เพราะเป็นยาพิษ ตายภายใน 1 – 2 นาทีที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย เชื่อมีกุนซือแนะนำแอมให้การ เพราะมีคดีตัวอย่างในต่างประเทศ

-รพี จวกแอม ใส่ร้ายเรื่องยาเสพติด หวังลดความน่าเชื่อถือ – โยนความผิดให้คนเสียชีวิต พี่สาวยันก้อย ไม่เคยยุ่งเกี่ยวยา เป็นคนตั้งใจทำมาหากิน ผลชันสูตรก็ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย เดือดแอมทำร้ายจิตใจครอบครัวเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก

พนักงานสอบสอบเตรียมสอบปากคำแอมที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพิ่มวันนี้ ส่วนทนายชินคุปต์ ปฏิเสธเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แอมแล้ว มองต่อสู้ยาก

-นักธุรกิจโรงงานส่งออกไม้ยางพารา ชาวจีน ถูกแทงไม่ยั้ง 20 กว่าแผล เสียชีวิตในห้องน้ำรีสอร์ต พนักงานเปิดห้องผงะพบศพนอนตายนุ่งผ้าขนหนูผืนเดียวจมกองเลือด มีขวดเบียร์เต็มห้อง ส่วนมือถือและรถเก๋งหาย พยานเผยผู้ตายเปิดห้องกับหญิงชาวไทย ที่ขับรถหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

-เครียดจัด! หนุ่มโปแลนด์มือฆ่าหั่นศพแฟนสาวชาวยูเครน ไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน ตำรวจแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่น - คุมตัวฝากขังศาลอาญากรุงเทพใต้ ค้านประกันตัว เร่งสอบหาชนวนเหตุสังหาร พบประวัติเดินทางมาไทยปลายเดือนเมษา หลังก่อเหตุหลบหนีไปที่ จังหวัดสระแก้ว จนถูกรวบ

-กำนันเผ่น ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งสอบตก แต่ดวงเฮงถูกหวยรางวัลที่ 1 / 4 ใบ รับเหนาะๆ 24 ล้าน แถมถูกเลขท้าย 2 ตัว อีก 10 ใบ ถือเป็นรางวัลปลอบใจ หลังปราชัยศึกเลือกตั้ง

ส่วนหลวงพ่อที่โคราช ถูกรางวัลที่ 1 รับทรัพย์ 6 ล้าน เผยอธิษฐานขอพระประธานในวัดให้ได้รางวัลใหญ่ เพื่อจะได้นำเงินไปทำนุบำรุงวัดที่ทรุดโทรม



เรื่องเล่าการเมือง

-มาติดตามความคืบหน้าการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เมื่อวานนี้ พรรคก้าวไกล นัดหารือกับพรรคเพื่อไทยแล้ว รวมถึงพรรคต่างๆ และมีเป้าหมายจะพูดคุยกับ ส.ว.ด้วย

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนพรรคที่ทำหน้าที่ประสานจัดตั้งรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการหารือจัดตั้งรัฐบาลว่า เมื่อวานนี้ช่วงบ่าย พรรคก้าวไกลได้นัดพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยนายพิธาทำหน้าที่ โทรหาหัวหน้าพรรคอื่นๆด้วยตนเอง และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถประชุมหารือร่วมกันได้

ส่วนจะต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ให้มาร่วมโหวตด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช บอกว่า พรรคก้าวไกลต้องฟังจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมอื่นๆ ก่อน หากเป็นไปตามกระแสสังคมที่เรียกร้อง ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ ยืนยันว่าในเมื่อพรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล และที่มีความกังวลเรื่องความอาวุโส ก็คิดว่าในประวัติศาสตร์ก็เคยมีประธานสภาฯ ที่อายุน้อยมาแล้ว



-ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยกำลังรอจังหวะตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลหรือไม่ เมื่อวานหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยัน เพื่อไทยไม่คิดแทงข้างหลังก้าวไกล หากโหวตนายพิธา เป็นนายกฯ ไม่สำเร็จ ก็จะยังจับมือร่วมรัฐบาลต่อไป

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่มีการวิเคราะห์ถึงสูตรตั้งรัฐบาล หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยอาจขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน และพรรคก้าวไกลอาจจะต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้าน นายแพทย์ชลน่าน ระบุว่า คนที่คิดก็คิดได้ แต่ในมุมของเพื่อไทย ไม่อยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้น แม้ว่าพรรคก้าวไกลไม่สามารถเลือกนายกได้ พรรคก้าวไกลก็ควรเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคไหน เพราะฉันทามติของประชาชนมาแบบนั้น ยกเว้นพรรคก้าวไกลจะประกาศไม่ขอร่วมรัฐบาล

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะออกแรง ประสานขอเสียงจากพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราต้องคุยกันว่ากิจกรรมหรือภารกิจที่จะทำต้อง มีอะไรบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยอะไรกัน

"เราเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ประกาศชัดว่าจะต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้ภารกิจที่ทำร่วมกันบรรลุเป้าหมาย เราไม่ใช่มาร่วมแล้วถือมีดอยู่ข้างหลัง เราไม่ทำแบบนั้นแน่นอน"

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่าพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค เป็นผู้ประสานงานกับพรรคก้าวไกลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก่อนนำเรื่องเข้าสู่บนโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการวางกำหนดการว่าจะสามารถหารือได้เมื่อไหร่



-อีกด้าน คือ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาท ส.ว.ในการร่วมเลือกนายกฯ เมื่อวาน ส.ว.ก้าวไปอีกขั้น คือ ตั้งคณะทำงานมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการถือหุ้นของนายพิธา และการกระทำของพรรคก้าวไกล ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ

ส.ว.จเด็จ อินสว่าง เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้กับทีมข่าวการเมืองของเรา โดยบอกว่า เมื่อวาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาใน 3 ประเด็น ก่อนจะส่งให้ กกต.ตรวจสอบต่อไป คือ 1.เรื่องการครอบงำพรรค 2.เรื่องการถือหุ้นสื่อของนายพิธา และ 3.เรื่องการละเมิด ม.112 โดยคณะทำงานจะเร่งทำให้เสร็จในหนึ่งเดือน ก่อนส่งให้ กกต.ดำเนินการก่อนประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน / เมื่อถามว่า ตอนนี้เหมือน ส.ว.กำลังเป็นอุปสรรคในการตั้งรัฐบาลของพรรคอันดับหนึ่ง นายจเด็จ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้ ส.ว. เป็น 2 บทบาท คือ อุปสรรค หรือความสำเร็จ และ ยอมรับว่าในการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯครั้งที่แล้ว ส.ว.แสดงบทบาทที่ทำให้เกิดความสำเร็จ

ทั้งนี้ ส.ว.จเด็จ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ เหตุผลสำคัญ คือ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก้าวไกลในเรื่อง ม.112 นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับอีกหลายนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

ส.ว.จเด็จ กล่าวอีกว่า การเลือกนายกฯของ ส.ว.ครั้งนี้มีเดิมพันสูง ด้านหนึ่งอาจมีการชุมนุม "ลงถนน" แต่อีกด้านก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น ส.ว.ต้องคิดให้ดี



-ส่วนท่าทีของ ประธานวุฒิสภานายพรเพชร วิชิตชลชัย เมื่อวานนี้ ยืนยันว่าจะให้เอกสิทธิ์ ส.ว. พิจารณาเองในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการสั่งการใดๆ… ไปฟังเสียง

โดยนายพรเพชร ยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีการสั่งการให้ ส.ว. ต้องโหวตไปในทิศทางเดียว เพียงแต่ขอให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเงื่อนไขในการโหวตครั้งนี้ ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่ที่เคยพูดไปแล้ว ก็คือควรให้ความเห็นชอบนายกฯ ที่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และมีความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ ส.ว. โหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. นั้น มองว่า ส.ว. สามารถทำได้ ไม่ได้เสียหายอะไร แต่อย่าลืมว่าก่อนโหวตนายกฯ จะมีการเปิดให้อภิปรายกันก่อน ถึงตอนนั้นอาจจะเกิดความพลิกผันได้ โดยเฉพาะเรื่องนโยบาย


-อีกประเด็นที่เป็นกระแสขึ้นมา คือ เสียงเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ช่วยโหวตให้พรรคอันดับหนึ่งได้เป็นนายกฯ จะได้ไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. เมื่อวานหลายพรรคออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย

เริ่มจากนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่า อย่าไปก้าวก่ายหรือรุกล้ำ ให้คนอื่นคิดเหมือนตัวเอง แต่ละพรรคมีสติปัญญาที่จะคิดเองได้

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรอบนี้สอบตก สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์โหวตให้นายพิธา โดยบอกว่า เป็นแนวทางหนึ่งในการปิดสวิตซ์ ส.ว. ตามที่พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอด

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า เรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องหารือภายในพรรค

อีกคนที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ คือ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ โดยแสดงท่าทีชัดเจนว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะไม่โหวตให้นายพิธา อย่างแน่นอน


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2FS-AoLnVB4


คุณอาจสนใจ

Related News