เศรษฐกิจ

รอลุ้น! กกพ.เคาะปรับลดค่าไฟเดือน พ.ค.-ส.ค. 66

โดย panwilai_c

20 เม.ย. 2566

122 views

วันนี้โฆษกรัฐบาลชี้แจงรายละเอียดปัญหาค่าไฟแพง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอยู่ในขณะนี้ ว่าค่าไฟฟ้าครัวเรือนระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม แต่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมาจากการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และพรุ่งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที จะมีการพิจารณาเพื่อปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ระหว่างเดือน พฤษภาคมถึงสิงหาคม จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย



นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที ในวันศุกร์ที่ 21 นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. โดยจะพิจารณาข้อเสนอของ กฟผ. ที่จะยืดระยะเวลาการชำระหนี้คืน จาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน หรือ 6 งวด ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค. ลดลงจาก 4.77 บาท เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากคณะอนุกรรมการค่าเอฟที เห็นชอบ ก็จะเสนอให้ประชุมคณะ กกพ. เพื่อสรุปค่า FT งวด 2/66 เบื้องต้นจะประชุมในวันที่ 26 เมษายนนี้ และประกาศลดค่าไฟฟ้าต่อไป



ขณะที่ กฟผ. เปิดเผยว่า อากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ทำให้ประชาชนต้องเปิดแอร์ เปิดพัดลมคลายความร้อนอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีก อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดเกิดพีกครั้งที่ 4 ขึ้น เมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา เกิดพีก 32,212.5 เมกะวัตต์ และค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้มากก็ยิ่งจ่ายแพง



ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดการคำนวณค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. ทั้งในส่วนที่เป็นบ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ หากแยกรายละเอียดการคำนวณจะมีส่วนประกอบจาก 6 ส่วน



เรียงลำดับจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุดตามลำดับ เช่น ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.35 สตางค์ต่อหน่วย ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย โดยนายอนุชา ระบุว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงตามราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงในอนาคต



ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาค่าไฟแพงช่วงหน้าร้อนว่า ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนพบว่าแพงขึ้นในเดือนเมษายน เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟมากขึ้นในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติ ยืนยันว่าค่าไฟฟ้าไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงคิดอัตราค่าไฟฟ้าเดิมคือ 4.72 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มครัวเรือน ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้า แต่ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าจะมีอัตราเริ่มต้นและปรับอัตราเพิ่มเป็นขั้นบันได



ส่วนค่าไฟฟ้าประเภทผู้ใช้ครัวเรือนอัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที และภาษีมูลค่าเพิ่ม การคิดค่าไฟเริ่มต้นตั้งแต่ 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.24 บาทต่อหน่วย, 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.22 บาทต่อหน่วย, เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.42 บาทต่อหน่วย



อาทิ ประเภทผู้ใช้ครัวเรือนอัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) และภาษีมูลค่าเพิ่ม การคิดค่าไฟเริ่มต้นตั้งแต่ 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.24 บาทต่อหน่วย, 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.22 บาทต่อหน่วย, เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.42 บาทต่อหน่วย



ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเรื่องปัญหาค่าไฟฟ้าที่กระทบต่อประชาชนว่าเตรียมให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ดูสัญญา ข้อกฎหมายที่รัฐเสียเปรียบ รวมทั้งเตรียมหารือ กกต.เพื่อนำงบประมาณไปดูแลประชาชน ซึ่งจะนำเสนอเข้า ครม.ได้เลย หรือต้องรอ ขอพิจารณาก่อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ลดค่าไฟ ,ค่าไฟแพง ,ค่าเอฟที

คุณอาจสนใจ