เศรษฐกิจ

ร้อนระอุ! สถิติใช้ไฟพีคปี 67 มาเร็วกว่าปีที่แล้ว - กกพ.ชง 3 แนวทาง เก็บค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.67

โดย thichaphat_d

9 มี.ค. 2567

112 views

เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ได้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 เมื่อเวลา 19.47 น. ที่ 32,704 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากฤดูร้อนที่เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และคาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงถึง 45 องศาเซลเซียสซึ่งจะทำให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เกิด Peak เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมในการดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น

------------------------------------

กกพ.ชง 3 แนวทางเรียกเก็บค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.67

วานนี้ (8 มี.ค.) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยในเวทีชี้แจงและตอบข้อซักถามผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) และข้อเสนอทางเลือก เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณา เพื่อประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้ารอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567

โดยที่ประชุม กกพ. ได้มอบหมายให้ สนง.กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็น ใน 3 แนวทางประกอบด้วย

กรณีที่ 1 จ่ายคืนหนี้ กฟผ.คงค้างทั้งหมดในงวดเดียว โดยแบ่งเป็นค่าเอฟทีประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค.67 จำนวน 19.21 สต./หน่วย และเรียกเก็บเงินเพื่อจ่ายหนี้ กฟผ. 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียว หรือ 146.03 สต./หน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สต./หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 5.43 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมvat)

กรณีที่ 2 จ่ายคืนหนี้ กฟผ.คงค้างใน 4 งวด จะทำให้มีการเก็บค่าเอฟที ที่ 19.21 สต./หน่วย และเรียกเก็บเงินเพื่อจ่ายหนี้ กฟผ. 99,689 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 งวด งวดละ 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สต./หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สต./หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานแล้ว จะทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.34 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน ตามที่ กฟผ.เสนอ หรือจ่ายคืนหนี้ กฟผ.ประมาณ 7 งวด โดยเป็นค่าเอฟที 19.21 สต./หน่วย เรียกเก็บเงินจ่ายหนี้ กฟผ. 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สต./หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สต./หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานแล้ว จะทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวยังไม่รวมภาระเงินคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 ตามมติ กพช. ทำให้มีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ ซึ่งภาระคงค้างดังกล่าวยังค้างอยู่ที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นเงินจำนวน 12,076 ล้านบาท และยังค้างที่ กฟผ. อีก 3,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค.-ส.ค.67 ลดลงมาจาก ต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงต่อเนื่องและทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย.67 แต่ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทย เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมาร์ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงยังจำเป็นต้องมีการนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซที่ขาดหายและรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน



https://youtu.be/2DqEPwjYJKA

คุณอาจสนใจ

Related News