สังคม

เปิดงานวิจัยฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุหนึ่งของ 'มะเร็งปอด' โดยเฉพาะในชาวเอเชีย

โดย panwilai_c

10 เม.ย. 2566

116 views

เอกสารวิจัยทางการแพทย์เผยแพร่งานวิจัยกลไกการเกิดมะเร็งปอดที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM2.5 ทำให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ยิ่งประมาณค่าฝุ่นมากขึ้น ยิ่งส่งผลต่ออัตราการเกิดโรคมะเร็ง และยิ่งมีโอกาสมากขึ้นในคนเอเชียที่มียีนกลายพันธุ์ต้นเหตุที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว



ซึ่งเรื่องนี้ก็เข้าสู่วาระการประชุมเบื้องต้นของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยเพื่อหารือแล้ว โดยนี่จะเป็น 1 ในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนงานวิจัยไทย ที่อยู่ระหว่างการหาคำตอบถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยจาก PM2.5 เพื่อยืนยันว่าฝุ่นมลพิษที่เกิดขึ้น ส่งผลในระยะยาวกับประชาชน



ภาพปกของวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ฉบับวันที่ 6 เมษายน 2566 ได้พาดหัวบนปกชัดเจนถึงสาเหตุการเกิดมะเร็งปอดที่มาจากมลพิษทางอากาศ โดยมีภาพประกอบเป็นหมอกควันที่ปกคลุมตามท้องถนน ซึ่งหัวข้อนี้เป็นหัวข้อเดียวกันกับงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการของสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรปมาแล้ว เมื่อปลายปีที่ผ่านมา



งานวิจัยนี้เป็นผลงานของทีม Tracerx โดยความร่วมมือของนักวิจัยจากสหราชอาณาจักร และ อีกหลายประเทศ ศึกษาการเกิดโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ที่มีสารพันธุกรรม EGFR ในกลุ่มตัวอย่างของคนที่ไม่สูบบุหรี่กว่า 3 หมื่นคน



ในยุโรป เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งมะเร็งปอดที่พบการกลายพันธุ์บนยีนนี้จะพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในชาวเอเชีย พบว่าอุบัติการณ์ของโรคสัมพันธ์กับระดับ PM2.5 ในพื้นที่ของผู้ป่วยอย่างชัดเจน จากกราฟเทียบระดับ PM2.5 ที่ 10 ในยุโรปกับ 40μg/m3 ในไต้หวัน จะเห็นว่าอัตราเกิดมะเร็งปอดต่างกันราว 7 เท่า



ขณะเดียวกันก็พบการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ในเนื้อปอดของหนูทดลอง ที่ถูกรมควันให้หายใจเอาอากาศที่มี PM2.5 ต่างกันคือ 0, 5 และ 50μg/m3 เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ก็จะพบว่ามี PM2.5 สะสมในปอดหนูต่างกันมาก และจำนวนจุดที่พบการขยายตัวของกลุ่มเซลล์เนื้องอกที่มียีน EGFR mutation ในเนื้อปอด ระหว่างกลุ่มควบคุม (0) กับ 50μg/m3 ก็ต่างกันชัดเจน



รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า งานวิจัยนี้เป็นการค้นพบครั้งสำคัญของโลกในรอบ 73 ปี หลังการค้นพบว่าควันบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลนี้ได้เข้าสู่วาระการประชุมของแพทย์ไทยมาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา



สำหรับประเทศไทย ก็มีการเก็บข้อมูลศึกษาผลกระทบต่อการเกิดโรคมะเร็งของฝุ่น PM2.5 มาตั้งแต่ช่วงปี 2559 แต่ก็ขาดช่วงไป จึงมีเพียงการยืนยันถึงการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเท่านั้น



โดยข้อมูลล่าสุดช่วง 1 มกราคม - 5 มีนาคม 2566 จากกระทรวงสาธารณสุข เพียง 3 เดือนไทยพบอาการผู้ป่วยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมากถึงกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน และเพิ่มถึงกว่า 1 แสนคนภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว



นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์จากฝั่งวิชาการเพื่อยืนยันว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้จริง ซึ่งหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจบริหารจัดการจะให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้หรือไม่ หรือ จะใช้เพียงค่ากราฟฝุ่นละอองเฉลี่ยทั่วประเทศมาใช้ประเมินสถานการณ์ ที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอย่างในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบปัญหาค่าฝุุjนละอองเกินมาตรฐานต่อเนื่องติดอันดับโลกนานนับสัปดาห์ เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกต้องใช้อากาศหายใจ ซึ่งอากาศที่เป็นมลพิษย่อมส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

คุณอาจสนใจ

Related News