เลือกตั้งและการเมือง

ส.ว. มาแล้ว เตรียมเสนอยกเลิกวาระนายกฯ 8 ปี

โดย attayuth_b

13 ม.ค. 2566

713 views

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการครอบครัวเพื่อไทย ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า กรรมาธิการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา มีการหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอยกเลิกเงื่อนไขวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี

ล่าสุดนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) หนึ่งในกรรมาธิการฯ ยอมรับกับทีมข่าวการเมืองช่อง 3 ว่าได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจริง และได้หารือกันหลายเรื่องว่าน่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกัน “ยกใหญ่” ไม่ใช่เฉพาะประเด็น 8 ปี นายกรัฐมนตรี แต่จะต้องมาดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะต้องแก้ประเด็นไหน อย่างไรบ้าง และหาทางออกร่วมกัน

เมื่อถามว่าประเด็นที่คิดว่าจะต้องมีการแก้ไขยกใหญ่ แม้จะมีหลายประเด็น แต่ประเด็นเรื่องการยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีห้ามเกิน 8 ปี ถือเป็นเรื่องอ่อนไหว เหตุผลที่เห็นว่าควรต้องมีการแก้ไขมีอะไรบ้าง นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ความจริงเราก็ขว้างงูไม่พ้นคอ” เพราะ ส.ว.ก็มีส่วนในการพิจารณาสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่ตนคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป มีการใช้รัฐธรรมนูญมาสักระยะ เได้มองเห็นว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็ดี เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาบางมาตรา จึงสรุปว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวมีความยินดี โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง เช่น กฎหมายเลือกตั้ง แต่ต้องมาหารือกันอย่างกว้างขวาง

เมื่อถามว่าการที่จะศึกษาประเด็นนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 8 ปี ในส่วนของการแก้ไข จะยกเลิกไปเลยหรือขยายเวลา นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เดี๋ยวทุกสายตาจะจับจ้องไปที่การแก้ไขครั้งนี้ว่าปกป้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เราได้ปรึกษาหารือกันว่าเดี๋ยวพลเอกประยุทธ์ก็หยุดทำการเมือง และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เราพิจารณาตรงนี้ว่าถ้าเราไปกำหนด 8 ปี หากได้คนดี ในอนาคต ทำประเทศชาติบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เกิดความสงบร่วมเย็น มั่นคง ตนคิดว่า 8 ปี น้อยไป แต่หากเรากังวลว่าได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ดี ประชาชนก็จะพิพากษาได้ว่าจะให้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ดีคนนั้น อยู่ได้กี่เดือนกี่ปี

เมื่อถามว่าแสดงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ หมายความว่าจะแก้ภายหลังพลเอกประยุทธ์ครบวาระไปแล้วใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า หากแก้รัฐธรรมนูญแล้วประกาศใช้ภายใน 1-2 ปี แล้วพลเอกประยุทธ์ยังเล่นการเมืองก็เข้าข่ายยกเลิกวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี พลเอกประยุทธ์ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

เมื่อถามต่อว่า ส.ว.ชุดนี้มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจากพลเอกประยุทธ์ การจะแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็แสดงว่าจะแก้เพื่อพลเอกประยุทธ์ จะอธิบายคำนี้อย่างไร นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หมายความว่าทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ รวมถึงพลเอกประยุทธ์

เมื่อถามย้ำว่าเป็นที่ทราบกันดีว่า พลเอกประยุทธ์จะอยู่ได้แค่ 2 ปี กรณีนี้เหมือนกับไปแก้จุดอ่อนให้กับพลเอกประยุทธ์ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเหมือนกันหมดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพลเอกประยุทธ์หรือใครก็ตาม เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญเก่าประกาศยุติการใช้ คนไทยทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อถามว่าครั้งที่แล้วเป็นการพูดกันว่าเขียนห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี เพราะป้องกันไม่ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมา การแก้รอบนี้เพื่อให้พลเอกประยุทธ์อยู่ต่อ นายกิตติศักดิ์หัวเราะ พร้อมระบุว่าเรากำลังหลงประเด็น นายทักษิณไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายทักษิณถูกต้องโทษตามคำพิพากษาของศาล เพราะฉะนั้น ประเด็นต่างกัน

เมื่อถามว่าการแก้ครั้งนี้ไม่ใช่แก้เพื่อพลเอกประยุทธ์ใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ตอบว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ส.ว. นึกจะแก้ก็แก้ ต้องร่วมกันทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ในการพิจาณา แต่ปราการด่านสุดท้าย ส.ว.เป็นผู้พิจาณาในการแก้ เพราะ 1 ใน 3 ของ ส.ว. 80 กว่าเสียงจะเห็นชอบว่าจะแก้หรือไม่ ตนต้องกราบเรียนว่าสังคมจะต้องบอกอีกว่า “นี่ไง ส.ว.แก้เพื่อตนเอง แก้เพื่อพลเอกประยุทธ์” ตนขอเรียนว่าโปรดพิจารณาว่าทุกคนควรจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้งาน

เมื่อถามว่าจะมีเสียงครหาหรือไม่ว่าครั้งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.ไม่เห็นด้วย แต่ตอนนี้กำลังมีดำริเอง ซึ่งมีความอ่อนไหว และอาจเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ทาง ส.ว.กังวลประเด็นนี้หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า การที่ ส.ว.ไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ประชาชนไม่ทราบว่าการแก้มีการหมกเม็ดซ่อนเร้นอะไรไว้ ต่อไปจะเป็นการแบ่งแยกแผ่นดินและล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจน ส.ว.จึงไม่สามารถที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาผ่านไปได้ เรื่องนี้ตนคิดว่าประชาชนไม่ทราบ แต่ ส.ว.ทราบ จึงไม่ให้ผ่านไปได้

เมื่อถามว่าเท่าที่ประเมินความเป็นไปได้ ส.ว. ได้พูดคุยกับ เพื่อนสมาชิกนอกรรมาธิการหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า มีการพูดกันเย้าแหย่กันบ้าง จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายการเมืองต้องการแก้อะไร มาตราไหนบ้าง

“แค่พูดกระเซ้าเย้าแหย่กันว่า อ้าว ส.ส. แก้ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ของ ส.ส. ก็ยกเว้น 8 ปีก็ดี หรือว่าวาระ ส.ว. 2 ปี ห้ามเล่นการเมือง ก็แก้ไปพร้อมกันเลยแล้วกัน นี่เป็นการกระเซ้าเย้าแหย่กัน ส่วนจะจริงหรือไม่ก็ต้องไปตอนแก้รัฐธรรมนูญ”

เมื่อถามว่าวาระของ ส.ว.มี 5 ปี เมื่อถึงปี 2567 ก็จะครบวาระ เพราะฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญต้องรีบดำเนินการให้เสร็จใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่าเท่าที่คุยกับหลายฝ่าย จากประสบการณ์และเหตุการณ์ที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ส่วนลำดับเวลาในการแก้ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า ต้องเริ่มมาจาก ส.ส. ส่วน ส.ว. ก็จะไปสมทบ

“ผมคิดว่าถ้า ส.ว.จุดพลุไปก่อน แล้วไม่ได้รับการสนองมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องดูที่ฝ่ายการเมืองด้วย”

เมื่อถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะทำให้เสร็จในสมัยหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ตอบว่า ไม่น่าทันสมัยรัฐบาลนี้ และไม่เหมาะสมอย่างอย่าง ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากใช้รัฐบาลนี้แก้รัฐธรรมนูญ จะถูกครหาว่าลากยาว ไม่เหมาะสม ส่วนที่จะแก้คงจะเตรียมไว้ให้รัฐบาลหน้า ตนมองว่าหากจะแก้ให้เสร็จรัฐบาลนี้ก็ทำได้ แต่ไม่เหมาะสม เพราะในปลายสมัย รัฐบาลจะยิ่งถูกโจมตีหนัก

เมื่อถามว่าเบื้องต้นจะมีการเลือกตั้ง และ ส.ว. จะมีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี มีข้อกังวลหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าพลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตร น่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและเป็นตัวเลือกให้ ส.ว. นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตร หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล หากพรรคเหล่านั้น รวบรวม ส.ส.เกินครึ่งได้ก็ถือว่าชนะ โดยเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่มีชื่อของพลเอกประยุทธ์ และนายธนาธร จึงรึ่งเรืองกิจจากพรรคก้าวไกล ส.ว. ไม่ได้เป็นส่วนที่โหวตให้พลเอกประยุทธ์ชนะ แต่เป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ได้รวบรวม ส.ส. เกินครึ่ง และ ส.ส.ยกมือเห็นชอบให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดย ส.ว. มาลงมติทีหลัง ไม่ได้มีผลแล้ว

“พรรคเพื่อไทยสนับสนุนนายธนาธร ไม่สนับสนุนคนในพรรคตัวเอง เพราะฉะนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทย แม้ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 มากที่สุด แต่ไม่สามารถไปรวบรวมเสียงได้ จึงเป็นที่มาให้พรรคที่ได้อันดับ 2 อย่างพรรคพลังประชารัฐ รวมเสียง ส.ส.ได้ ก็เลยเสนอนายกฯได้ ก็เป็นไปตามระบบ”

“กิตติศักดิ์ พูดมาตลอดและโดนโจมตีมาตลอด หากสมมติการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคเพื่อไทยแพ้พลังประชารัฐ แต่รวบรวมพรรคอื่นๆ ได้ ส.ส.เกิน 251 คน เกินครึ่ง แน่นอน ส.ว.ไม่ไปยุ่งเกี่ยว ไม่ไปโหวตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตรก็ตามที่ไม่มี ส.ส.เกินครึ่งในโควต้า”

เมื่อถามต่อว่าหากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง จะโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า ว่าต้องไปดูที่ตัวบุคคลก่อน

“เอาตรงๆ ออกข่าวไปได้เลยว่า สมมติเป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยส่วนตัวกิตติศักดิ์ก็คงงดออกเสียง เพราะ ส.ว. มีปัจจัยได้แค่งดออกเสียง ส่วนท่านอื่น ไม่ขอก้าวล่วงอาจจะยกมือให้ หรืองดออกเสียงก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละท่าน”

เมื่อถามว่าหากไม่ใช่นางสาวแพทองธาร แต่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าใครก็ตาม ส.ว.กิตติศักดิ์จะโหวตให้หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า ตนคิดว่าเขามีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหาที่จะสนับสนุน แต่ตนไม่สามารถตอบแทน ส.ว.คนอื่นได้

“เท่าที่ยกมาไม่ว่าจะเป็นหมอชลน่าน (นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว) นายเศรษฐา ทวีสิน โดยส่วนตัว สังคมจะคิดอย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นฝ่ายค้าน เอาชัดๆ กิตติศักดิ์ไม่ชอบอ้อมค้อมก็คืองดออกเสียง”

นายกิตติศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า ไม่แน่ เพราะการงดออกเสียงเป็นเพียงสิทธิ์ของตนเพียงอย่างเดียว อาจจะมี ส.ว.คนอื่นโหวตให้ก็ได้ ตนมองว่าประเทศไทยมีแต่คนไทยด้วยกันทั้งนั้นที่แข่งขันกัน ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ส.ว.ก็จะเปิดใจให้ และไม่ได้หลับหูหลับตาเชียร์คนใดคนหนึ่ง แม้แต่พลเอกประยุทธ์ ต้องดูเหตุดูผลและหน้างานต่อไปด้วย

เมื่อถามว่ามีกระแสที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล และมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันพลเอกประวิตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีพลเอกประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว. จะโหวตพลเอกประวิตรหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า วุฒิสมาชิกเป็นสภาสูง เพราะฉะนั้น เรื่องการเมือง ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนสุดท้ายให้มาถึงมือการพิจารณาของ ส.ว.ตนคิดได้เลยว่า ส.ว.มีคุณวุฒิพิจารณาสนับสนุนได้

“ถ้าเป็นพลเอกประวิตร ก็ไม่ใช่เรื่องของ ส.ว.ที่จะต้องตีอกชกหัว เราก็พิจารณาว่าประเทศจะไปได้ไหม การเมืองจะเดินไปได้ไหม ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคัดค้าน เพราะว่าเราเป็นสภาสูง เราต้องดูว่าอำนาจเราแค่ไหน แต่ที่แน่นอนวุฒิสมาชิกไม่ได้เป็นอุปสรรคเรื่องใครจะมาเป็นรัฐบาล”


แท็กที่เกี่ยวข้อง  ข่าวการเมือง ,วาระนายก

คุณอาจสนใจ

Related News