เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติชี้ค่าไฟแพงกระทบต้นทุน กดดันเงินเฟ้อปี 66 หลุดกรอบ รับฉุดศักยภาพเศรษฐกิจไทย

โดย petchpawee_k

20 ธ.ค. 2565

131 views

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า ในช่วงปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของโลกปรับตัวขึ้นสูงมาก จากปัจจัยราคาพลังงานที่เป็นแรงกระแทกสำคัญ และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเร็วและแรงอย่างพร้อมเพรียงกันมากสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งมีผลต่อเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ นำมาซึ่งการตึงตัวของภาวะการเงินโลก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกในปีนี้ชะลอตัวจากปีก่อน และเป็นการชะลอตัวมากสุดนับตั้งแต่ปี 2007 (พ.ศ.2550) ในขณะที่เศรษฐกิจของไทยในช่วงต้นปี เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยยังมีความเปราะบาง การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง แต่ระยะถัดมา เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายด้วยตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความอ่อนไหวน้อยต่อสถานการณ์ด้านต่างประเทศ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยเน้นเฉพาะจุดแบบตรงกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับการเข้าไปดูแลค่าเงินในบางช่วง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถประคองตัวและเริ่มฟื้นกลับมาได้ดังเช่นในปัจจุบัน

ส่วนการจะกลับมาเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติ (Policy Normalization) ได้ในช่วงใดนั้น นายปิติ กล่าวว่า คงยังไม่สามารถเจาะจงได้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566 ด้วย โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จึงอาจจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้กับจุดที่มีศักยภาพแล้วหรือยัง และเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะ Smooth take off ก็ไม่จำเป็นที่แนวนโยบายการเงินจะต้องปรับแบบกระชาก หรือเปลี่ยนทิศ


อย่างไรก็ดี มองว่ามี 2 ตัวแปรสำคัญ ที่อาจเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อในปีหน้าปรับตัวสูง หรือต่ำกว่าระดับ 3% ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ


1. การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนการผลิตหลายด้านที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

2. มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และค่าครองชีพอื่นๆ

และ 3.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/lAJecnIubTI

คุณอาจสนใจ

Related News