เศรษฐกิจ

'ภูมิธรรม' อัด 'แบงก์ชาติ' วิเศษมาจากไหนถึงวิจารณ์ไม่ได้ ซัดสมัยประยุทธ์ ไม่เห็นออกมาค้าน

โดย nattachat_c

7 พ.ค. 2567

23 views

วานนี้ (6 พ.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ  ถึงกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวพาดพิงธนาคารแห่งประเทศไทยบนเวที '10 เดือนที่ไม่รอ ไปต่อให้เต็ม 10' ว่า


การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนางสาวแพทองธาร เป็นการเสนอว่ามีปัญหาแบบนี้ ทุกคนก็รู้ว่าการแก้ไขปัญหาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นโยบายการคลังและนโยบายการเงินต้องไปด้วยกัน วันนี้มันเดินไปคนละทาง ซึ่งเรามีความเห็นว่าการทำแบบนี้ ทำให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ การออกมาวิจารณ์ว่าเป็นปัญหา ตนคิดว่า สิ่งที่แบงก์ชาติควรจะทำคือรับฟัง แล้วเอากลับไปทบทวนว่าตัดสินใจถูกหรือผิด ซึ่งไม่ใช่เป็นการแทรกแซง สิ่งที่พูดกันก็เวอร์เกินความเป็นจริง ตนรู้สึกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านหัวหน้าพรรคด้วย


“ผมคิดว่าทุกส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่สุจริต หรือเกินเลยข้อเท็จจริง แล้วเราไปให้คุณค่ากับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ จากนี้เรื่อย ๆ ใครจะกล้าออกมาวิจารณ์” นายภูมิธรรม กล่าว


นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ตามระบอบประชาธิปไตย ควรจะให้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่ว่ารัฐบาลหรือรัฐสภา เพราะจะได้นำไปปรับปรุง ตนเห็นว่าแบงก์ชาติไม่ใช่ไม่เคยทำผิด แบงก์ชาติเคยตัดสินใจผิดตั้งแต่สมัยต้มยำกุ้ง เอาเงินทั้งหมดของประชาชนในคลังไปทุ่มในตลาด ทำให้สถาบันทางการเงินล้มระเนระนาดมาแล้ว เพราะฉะนั้น จะให้รับประกันว่าแบงก์ชาติคิดอะไรแล้วเราต้องไปทำตาม มันเป็นไปไม่ได้ ครั้งนั้นรัฐบาลใช้เงินกู้ทั้งหมดมาแก้ปัญหา หนี้สินทั้งหมดอยู่ในภาระของรัฐบาล รัฐบาลเป็นคนจ่ายหนี้สาธารณะทั้งหมดที่ติดมาจนถึงวันนี้ แบงก์ชาติไม่ได้จ่ายเลย และมีเงินเก็บโดยไม่ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำผิดพลาด


“ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อหนี้สาธารณะมากมาย ตนยังไม่เห็นผู้บริหารแบงก์ชาติออกมากล่าวหาอะไรสักนิด เราไม่ได้รื้อฟื้น แต่การวิจารณ์ไม่ได้ มันจะเกินไปนิดหนึ่ง” นายภูมิธรรม กล่าว


นายภูมิธรรม ย้ำว่า นางสาวแพทองธาร วิจารณ์ในฐานะพลเมืองและหัวหน้าพรรคที่มี สส. เป็นพรรคที่เป็นแกนนำฝ่ายรัฐบาล ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบประชาชน ตนอยากจะเรียกร้องให้แบงก์ชาติรับผิดชอบต่อประชาชน และหากเกิดปัญหาก็รับผิดชอบตามสิ่งที่ควรจะเป็น


“ปี 2540 ไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบหรือลาออกสักคน แล้วที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติโกรธ จะโกรธอะไรครับ สิ่งที่ทำนี่ผิดกฎหมายตรงไหนครับ ….ผมได้ข่าวมาจากหนังสือพิมพ์ อันนี้ถ้าโกรธนะ ไม่โกรธก็แล้วไป” นายภูมิธรรม กล่าว


“เหมือนกับคุณอิ๊งค์ทำผิดมหาศาล ผมว่าสมัยปี 2540 แบงก์ชาติผิดกว่านี้หลายหมื่นหลายพันเท่าเลยครับ” นายภูมิธรรม กล่าว


“การทำงานของรัฐบาล หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐ ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้ เป็นอะไรครับ วิเศษวิโสมาจากไหนถึงวิจารณ์ไม่ได้” นายภูมิธรรม กล่าว


นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงฝ่ายค้านที่ออกมาพูด ก็มารับรองการกระทำของแบงก์ชาติด้วย อย่าวิจารณ์เฉพาะแค่อะไรที่รัฐบาลทำแล้วต้องปฏิเสธ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเล่นเกมการเมือง อะไรที่รัฐบาลทำอยู่จะต้องหาช่องทางวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว ช่วยพูดให้ชัดเจน ว่าทำไมถึงออกมาสนับสนุนแบงก์ชาติ ตนอยากฟังจากฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน


ส่วนแบงก์ชาติ ลองไปคิดดูว่า ที่ผ่านมาได้แสดงบทบาทอะไร เคยผิดพลาดอะไร สิ่งที่พวกท่านทำผิดพลาด พวกเราแบกรับหนี้สาธารณะจนถึงทุกวันนี้ยังไม่หมด สำนึกเรื่องนี้ได้บ้างหรือไม่


นายภูมิธรรม ระบุต่อว่า แบงก์ชาติจะมีปัญหากับรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนแล้วว่าคงต้องหารือกันต่อไป เรื่องนี้ตนขอพูดในฐานะลูกพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรคถูกวิจารณ์ แต่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ พร้อมตั้งคำถามทำไมฝ่ายค้านถึงกังวลใจแทนแบงก์ชาติ เป็นอะไรกันหรือไม่


นายภูมิธรรม กล่าวว่า หากเราจะแทรกแซง ทำไปนานแล้ว นโยบายการคลังเดินไปสุดแล้ว เหลือแต่นโยบายการเงิน ปัญหาสำคัญตอนนี้อยู่ที่ดอกเบี้ยนโยบาย ที่แบงก์ชาติมีอำนาจเต็ม อยากให้ช่วยอธิบายว่าการลดดอกเบี้ยให้ประชาชนเสียหายตรงไหน เห็นบอกว่าต้องรักษาระบบ รักษาประเทศชาติ ไม่ปล่อยให้ใครมาทำลาย ตนขอให้ช่วยบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนี้ ทำลายประเทศอย่างไร ตนอยากให้เกิดเวทีโต้แย้ง เราต้องร่วมกันทำงานโดยไม่มีอคติ ขณะนี้ทุกฝ่ายเอาข้อมูลมาแก้ปัญหา ไม่ใช่เอาจินตนาการมาแก้


นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ตนอยู่ในคณะกรรมการรับฟังความเห็น 2-3 ครั้ง แบงก์ชาติก็ส่งรองผู้ว่าฯ มา และไม่พูดอะไรเลย พอออกไปข้างนอกพูดเต็มที่เลย จะไปพูดแบบนั้นทำไม อยู่ในระบบต้องใช้ระบบแก้ปัญหา


“ผู้ว่าฯมาก็พูดมาครั้งหนึ่งว่ารับไปศึกษาดู แต่ว่าตอนนี้ให้รองผู้ว่าฯมา ท่านติดภารกิจตลอด เราประชุมใหญ่ขนาดนี้ที่มีผลกระทบต่อปัญหา ถ้าผมเป็นท่าน ผมเลื่อนนัดอื่น แล้วเข้าประชุมเพื่อดูว่ามีปัญหาอะไร” นายภูมิธรรม กล่าว

----------------

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวีตตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยระบุว่า


“แบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐ  ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล กำหนดเป้าเงินเฟ้อ และหากเงินเฟ้อไม่เข้าเป้า แบงก์ชาติมีหน้าที่ต้องอธิบาย-รายงานให้รัฐบาลทราบ ดังนั้น เราทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามกับแบงก์ชาติได้


(1) ที่ผ่านมา ก.คลัง ยืดหยุ่นกับแบงก์ชาติ (ธปท.) มาตลอด … ธปท. เปลี่ยนเป้าเงินเฟ้อมาแล้ว 2-3 ครั้ง รัฐบาลก็ปล่อยให้เปลี่ยน … แต่แม้เปลี่ยนแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าเป้า


หน้าที่แบงก์ชาติด้านการดูแลเงินเฟ้อ = ต้องทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับดี โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ


คือต้องพูดคุยกับรัฐบาล เพื่อกำหนดเป้านโยบายเงินเฟ้อร่วมกัน ต้องรายงานรัฐบาลทราบ ต้องตกลงกับ รมว. คลัง และให้ ครม. เห็นชอบ


(2) กฎหมาย ธปท. /พ.ร.บ.ธปท. ไม่มีสักคำเดียวว่า ธปท. เป็นอิสระ หรือเข้มแข็ง

แบงก์ชาติเป็นหน่วยงานรัฐ และมีภารกิจเป็นธนาคารกลาง

- มาตรา 4 รมว.คลัง เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้

- มาตรา 5 ธปท. เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ ในเชิงกฎหมายงบประมาณ (แปลว่า ธปท. ใช้วิธีงบประมาณของ ธปท. เองได้)

- มาตรา 56 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ธปท.

- หมวด 8 รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปของ ธปท.


(3) ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ คือ อิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงินให้มีเสถียรภาพทางราคา หมายความว่า เงินเฟ้อไม่ต่ำ-ไม่สูงเกินไป เป็นต้น

- เงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบ 1-3% — แต่ปัจจุบัน 0 / ติดลบด้วยซ้ำ

- เศรษฐกิจโต —- แต่ปัจจุบันโตไม่ดี โตแค่ 1.5%

- ดูแลดอกเบี้ยนโยบาย —- ปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% สูงเดินไปหรือไม่?


นอกจากนี้ นายชัย ยังโพสต์ข้อความว่า “เงินเฟ้อตอนนี้เท่ากับศูนย์ หรือติดลบด้วยซ้ำ แต่ว่านโยบายดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5 ถ้าจะบอกว่าแบงก์ชาติต้องมีอิสระ เพื่อให้มีศักยภาพ เป้าหมายเงินเฟ้อก็ต้องอยู่ในกรอบ 1-3 ไม่ใช่ต่ำกว่ากรอบมากแบบนี้


กฎหมายไม่ได้บอกว่าแบงก์ชาติมีอิสระในการทำงานโดยปราศจากรัฐบาล แต่ต้องทำงานภายใต้แนวนโยบายแห่งรัฐ เพียงแต่กฎหมายฉบับนี้ ระบุว่าการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติทำได้ยากมากเท่านั้น


เราทุกคนมีสิทธิจะตั้งคำถามกับแบงก์ชาติได้”

--------------

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความระบุว่า


“แบงก์ชาติเป็นสถาบันที่มีหน้าที่กำกับนโยบายด้านการเงินของประเทศ ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปริมาณเงินในตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน ทำงานดีก็ต้องชม ทำงานไม่เข้าท่าก็วิจารณ์ได้ แต่การวิจารณ์แบงก์ชาติ ต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ปราศจากอคติ และมีตรรกะของเหตุผล เช่น จะบอกว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเยอะ เพราะการไม่ลดดอกเบี้ยธนาคาร ดูจะเป็นการเชื่อมโยงของสิ่งห่างไกลเกินไป


หนี้สาธารณะ (Public Debt) นั้นมาจากกู้ยืมเงินของรัฐจากการทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 11.4 ล้านล้านบาท จะลดลงต่อเมื่อเราตั้งงบประมาณใช้คืนมากขึ้น กู้ใหม่ให้น้อยลง หรือกู้มาลงทุนเพื่อให้มีรายได้มาใช้คืน ไม่ใช่กู้มาแจก


หนี้ครัวเรือน (Household Debt) ของไทย คือหนี้ของชาวบ้านที่ไปกู้ยืมสถาบันทางการเงิน เช่น ผ่อนบ้าน ซื้อรถ กู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท หากมีอัตราดอกเบี้ยสูง ย่อมผ่อนคืนยาก ส่งต้นได้น้อย ส่งเท่าไรก็ส่งได้แต่ดอก


พราะดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ ประมาณร้อยละ 7 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ ร้อยละ 2.5


แบงก์ชาติวิจารณ์ได้ครับ แต่คนวิจารณ์แบงก์ชาติด้วยตรรกะที่ตื้นเขิน ก็ย่อมถูกวิจารณ์ได้เช่นกัน”

---------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/QaJUk12l0MY

คุณอาจสนใจ

Related News