เลือกตั้งและการเมือง

'เพื่อไทย' ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ทำได้จริง ยันไม่ทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจ

โดย parichat_p

7 ธ.ค. 2565

54 views

ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กับการแสดงวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทย ต่อกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ถูกมองว่าเป็นนโยบายที่ทำลายโครงสร้างในการจ้างงาน ที่ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือร่วม ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นความสำคัญ ที่ทุกรัฐบาลต้องทำ แต่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศล่วงหน้า เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างแน่นอน


น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย นำทีมชี้แจงว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไปเมื่อวานนี้ เป็นเป้าหมายที่จะเกิดขึ้น ในปี 2570 หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง บริหารบ้านเมืองจนเกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงต้องคิดใหญ่ เพราะเป็นนโยบายที่เป็นไปได้หากทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และแน่นอนว่าต้องเป็นไปตามกลไกร่วมกันของทุกฝ่าย และเป็นเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยอยากลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ และเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ


นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคี ต้องเกิดจากความเห็นพ้องร่วมกันระหว่าง รัฐ - ผู้ประกอบการ - ประชาชน และเชื่อมั่นว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแน่นอน


ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่อยู่ระหว่างการเยือนประเทศสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 เห็นว่าการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่วงหน้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้หาเสียงเพราะจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในไทย แม้พรรคพลังประชารัฐ เคยมีนโยบายหาเสียง แต่ตนเองไม่ได้เป็นผู้คิดนดยบายนี้และไม่เห็นด้วยเพราะเมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำให้ทราบดีว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องมาจากคณะกรรมการไตรภาคี ฝ่ายการเมืองไม่สามารถไปกำหนดได้ เพราะจะกระทบไปถึงการลุงทุนได้ จึงอยากให้พรรคการเมืองระมัดระวัง ที่จะหาประโยชน์กับนโยบายนี้


นอกจากนี้ในการแถลงต่อที่ประชุมไอแอลโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความสำเร็จในการจัดการปัญหาแรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ไทยได้ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการเยียวยา ฟื้นฟู เปิดตลาดแรงงานรองรับการทำงานได้กว่า 2.6 ล้านคน และจัดระบบป้องกันโควิดในที่ทำาน รักษาการจ้างงานได้กว่า 4 แสนต่ำแหน่งและสร้างมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี และคาดหวังว่าจะเกิดความร่วมมือกับทุกประเทศได้ดียิ่งขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News