สังคม

วช. ร่วม กฟผ. ส่งเสริมอาชีพเลี้ยง 'ชันโรง' เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นำรายได้สู่ชุมชน

โดย panwilai_c

20 พ.ย. 2565

564 views

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือ "Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง" พัฒนาการเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรงแก่ชุมชนในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร



นายสนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน ที่ศูนย์เรียนรู้ "นา 3 ดี" อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยโครงการ "การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง"



เป็นการนำจุลินทรีย์ที่คัดแยกจากรังผึ้งชันโรงสายพันธุ์ถ้วยดำในภาคเหนือมาพัฒนาเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติก ผสมกับอาหารเสริมหลัก ที่มีเกสรผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำเปล่า เป็นส่วนประกอบ เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารชันโรง ในการสร้างตัวอ่อนและเพิ่มผลผลิต ที่จะผลิตน้ำผึ้งได้ทั้งปี ซึ่งจะเป็นเป็นประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง โดยผึ้งชันโรงแต่ละสายพันธุ์มีความต้องการอาหารที่จำเพาะและแตกต่างกัน โดยสูตรอาหารเสริม ดังกล่าวข้างต้น ถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะสายพันธุ์ถ้วยดำ



ขณะที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะหน่วยบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม เห็นความสำคัญของการขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงมาอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับสายพันธุ์ชันโรงในภาคเหนือ เพื่อทดแทนการขาดแคลนอาหารของชันโรงในช่วงที่อาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ และเพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำผึ้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหัวหน้าทีมวิจัย และมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง โดย ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ เป็นผู้ดูแลโครงการฯ



นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ร่วมกับ 9 องค์กร แสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือ "Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง" เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิติและรายได้ของชุมชน และพัฒนาแบรนด์ "ชันโรงระยอง" "ชันโรงบางน้ำผึ้ง" และ "ชันโรงขอนแก่น" ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่าย Big Brother หรือ พี่เลี้ยงวช. ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Big Brother และฐานะองค์กรพี่เลี้ยงหลักในกลุ่มสนับสนุนการวิจัย ด้วยการสร้างรายได้ให้ชุมชนเกษตรกร ที่เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และนำชุมชนไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

คุณอาจสนใจ