กีฬา
เอเยนต์ฟีฟ่าแสบ! รู้ว่าไทยมีกฎ 'มัสต์แฮฟ' โก่งราคาลิขสิทธิ์บอลโลก - กกท.ชี้ยังมีเวลาต่อรองถึง 20 พ.ย.
โดย thichaphat_d
7 พ.ย. 2565
40.1K views
แฟนบอลชาวไทยยังต้องลุ้นลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่ง กสทช.นัดอนุมัติงบฯ วันที่ 9 พฤศจิกายน กรอบวงเงิน 1,600 ล้านบาท ที่ใช้ซื้อลิขสิทธิ์
ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เผยราคาข้อเสนอจากเอเยนต์ฟีฟ่าที่ได้รับมา ถือว่าค่อนข้างสูง และเวลานี้ยังมีการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความยุติธรรมในเรื่องราคามากที่สุด ยันเดดไลน์การเจรจาซื้อสิทธิ์สามารถทำจนถึงก่อนเกมฟุตบอลโลก 2022 นัดเปิดสนาม ซึ่งจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยความคืบหน้า กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กำชับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เร่งดำเนินการประสานงาน กสทช. ให้คนไทยได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน- 18 ธันวาคม ว่า
ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือชี้แจงการร้องของบประมาณจาก กกท. แล้ว ซึ่งสำนักงานกำลังพิจารณารายละเอียด เพื่อจัดทำวาระการประชุมเสนอให้ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาอนุมัติ หรือ ไม่อนุมัติ ในวันพุธ ที่ 9 พ.ย.นี้
ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเรื่องของความแน่ชัดการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 อาจต้องรอถึงสัปดาห์หน้า ซึ่งเราก็จะทราบว่างบที่มีการทำเอกสารเป็นกรอบวงเงิน 1,600 ล้านบาท จะได้อนุมัติหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่ทางเอเย่นต์ของฟีฟ่ารู้ว่าบ้านเรามีกฎ กติกา เรื่องลิขสิทธิ์แบบนี้ จึงเรียกราคามาค่อนข้างสูง จึงยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และต้องเป็นราคาที่ประเทศไทยไม่ถูกเอาเปรียบจนเกินไป
“ต้องยอมรับว่าค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ถือเป็นรายการแข่งขันใหญ่ ดังนั้น มูลค่าจึงสูงกว่ารายการกีฬาใดๆ ซึ่งในการดำเนินการตอนนี้ เรายังมีการเจรจากับทางเอเยนต์ของฟีฟ่าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ วันที่ 9 พฤศจิกายน ก็จะได้ข้อสรุปในเรื่องขอกรอบวงเงินที่เราจะนำไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับอนุมัติเป็นจำนวนเท่าใดจากกรอบที่มีการตั้งเอาไว้ มากน้อยเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการหรือไม่อย่างใด
ส่วนภาคเอกชน เรายินดีหากจะเข้ามาร่วมสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการ แม้ใกล้การแข่งขันเข้ามาแล้ว แต่เรายังมีเวลา ซึ่งเส้นตายในการดำเนินการเจรจาซื้อขายนั้นสามารถทำได้จนถึงก่อนการแข่งขันนัดเปิดสนาม ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน” ดร.ก้องศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับประเทศไทยนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกกฏ 'มัสต์แฮฟ' (Must Have) ระบุว่า 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก ซึ่งกฎดังกล่าวทำให้ไม่มีภาคเอกชนกล้าลงทุนทำให้ทุกๆ วงรอบ 4 ปี รัฐบาลต้องหาเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูของฟรี
--------------